ข่าว

สพฐ.เปิดผลสำรวจ ‘สถานภาพทางการเงินครู’ เหลือน้อยกว่า 30% เฉียด 5 แสนคน

สพฐ.เปิดผลสำรวจ ‘สถานภาพทางการเงินครู’ เหลือน้อยกว่า 30% เฉียด 5 แสนคน

04 ธ.ค. 2566

สพฐ.เปิดผลสำรวจ ‘สถานภาพทางการเงินครู’ ต่อเดือน ของ 'ครูประถม'และ‘ครูมัธยม’ รวมทั้งสิ้น 687,221 คน ในจำนวนนี้ เร่งไกล่เกลี่ยคดี-ชะลอฟ้องกลุ่มวิกฤตกว่า 1 แสนคน และมีเงินเหลือน้อยกว่า 30% เกือบ 5 แสนคน ดัน ศูนย์แก้หนี้ครู ครบวงจร

แก้หนี้ครู เป็นความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มาทุกยุคทุกสมัย และในทุกครั้งที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การแก้ไขปัญหาหนี้ครู จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันทุกครั้ง รวมทั้ง ศธ.ภายใต้การบริหารงานของ ‘บิ๊กอุ้ม’พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.),นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)และเสี่ยโต้ง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

โดยเมื่อเร็วๆ นี้การแก้ไขปัญหาหนี้ครู ถูกนำมากางไว้บนโต๊ะเพื่อหาทางแก้หนี้ครูอีกครั้ง หลังรัฐบาลชุดก่อนพยายามแล้ว แต่ยังไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในครั้งนี้ ว่ากันว่า นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร(กทม.)

 

 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

นายธีร์ ระบุว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งอยู่บริเวณอาคาร สพฐ. 1 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ตลอดจนการรวบรวมผลการดำเนินงาน ส่งต่อข้อมูลแก่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา

 

 

 

โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ.ได้สร้างโปรแกรมออนไลน์ เพื่อสำรวจข้อมูลวิเคราะห์จัดกลุ่มสถานภาพทางการเงินครู แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. สีแดง ถูกฟ้องดำเนินคดีเรื่องหนี้สินทุกกรณี 
  2. สีส้ม เงินคงเหลือน้อยกว่า 30% และยังไม่ถูกฟ้อง 
  3. สีเหลือง มีหนี้สินและเงินคงเหลือน้อยกว่า 30% 
  4. สีเขียว ครูและบุคลากรไม่มีหนี้

 

 

ปรากฎว่าผลของการสำรวจถานภาพทางการเงินครู มีบุคลากรที่ลงทะเบียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 533,124 คน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 154,097 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 687,221 คน 

 

 

โดยจำแนกข้อมูลสถานะทางการเงินของครูได้ ดังนี้ 

  1. สีแดง มีจำนวน 2,864 คน 
  2. สีส้ม มีจำนวน 108,540 คน 
  3. สีเหลือง มีจำนวน 485,009 คน 
  4. สีเขียว มีจำนวน 90,808 คน


 

เปิดผลสำรวจ สถานภาพทางการเงินครู แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

 

"ตัวเลขสถานภาพทางการเงินของครูดังกล่าว สพฐ.จะนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ตามแนวทางที่กำหนดตามสถานภาพทางการเงิน โดยจะนำร่องในพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายวิกฤตมากที่สุดเป็นลำดับแรก เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

 

 

โดยจะให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยระหว่างพิจารณาคดี,ชะลอการฟ้อง,ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งพัฒนาความรู้เรื่องการเงิน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

รวมถึงติดตามการดำเนินการในสถานีแก้หนี้ทุกพื้นที่ เพื่อให้การแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความอุ่นใจให้ครูไทยทั่วประเทศกลับมายิ้มได้อีกครั้ง และทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป"นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวย้ำ

 

สพฐ.เปิดผลสำรวจ ‘สถานภาพทางการเงินครู’ เหลือน้อยกว่า 30% เฉียด 5 แสนคน

 

ว่ากันว่า หนี้ครูส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืิมเงินจาก ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครู’ และองค์กรครูได้พยายามเรียกร้องขอให้เจ้าหนี้ ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3 ต่อปี แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เป็นผล

 

ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ได้อนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมของเงินทุนหมุนเวียนฯ จำนวน 200 ล้านบาท ปล่อยให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 500,000 บาท(ห้าแสนบาท) เริ่ม 27 พ.ย. 2566

 

คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูฯ เคาะวงเงิน200 ล้านเร่งแก้วิกฤตหนี้สินครู ปล่อยให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 500,000 บาท ครูขอยื่นกู้ยืมได้ภายใน 27 พ.ย. 2566