นักวิชาการ แนะ 'ยุบศธ.' ตัวการทำ 'ผลสอบ PISA' คะแนนไทยร่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปี
นักวิชาการ ชี้ 5 ปัจจัยสำคัญ ตัวการทำ 'ผลสอบ PISA' ซึ่งวัดทักษะเด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก พบว่า หลายประเทศคะแนนลดลง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ร่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ฉีกหน้าคนไทย แนะ 'ยุบศธ.' ทิ้ง หากทำได้แค่นี้
เรียกได้ว่าสะเทือนวงการศึกษาไทย เมื่อผลการวัดทักษะ ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับมัธยม หรือเด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก จาก การสอบPISA ที่จัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี
เมื่อวานนี้(5 ธ.ค. 2566) การสอบ PISA ครั้งล่าสุดจัดสอบไปเมื่อปี 2022 และมีการประกาศผลคะแนนออกมาแล้ว พบว่าทักษะของนักเรียนกำลังลดลงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในหลายประเทศทั่วโลก ที่สำคัญ รวมถึงประเทศไทยด้วย
โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นผู้จัดสอบ ระบุว่า ในปีที่แล้ว มีประเทศที่เข้าร่วมการสอบ 81 ประเทศ รวมนักเรียนกว่า 700,000 คน
การสอบ PISA ไม่มีการกำหนดคะแนนเต็ม แต่จะใช้สัดส่วนคะแนนของทุกประเทศในแต่ละปีมาคำนวณค่าเฉลี่ย ประเทศไหนที่คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ก็เท่ากับว่า มีทักษะสูงกว่ามาตรฐาน
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน เป็นการบ่งชี้ว่า ทักษะโดยภาพรวมของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไร ซึ่งคะแนน PISA 2022 ที่ออกมาก็พบว่า คะแนนการอ่านโดยเฉลี่ยทั่วโลก ปีนี้อยู่ที่ 476 คะแนน ลดลงมา 10 คะแนน
ส่วนคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 472 คะแนน ลดลงถึง 15 คะแนน และคะแนนวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ยลดลงเพียง 2 คะแนนเท่านั้น อยู่ที่ 485 คะแนน
จาก 81 ประเทศ พบว่า มีเพียง 18 ประเทศ/เขตพื้นที่เท่านั้น ที่มีคะแนนทั้ง 3 ด้านสูงเกินมาตรฐาน ขณะที่ประเทศไทยนั้น คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกทักษะ รวมถึงคะแนนยังต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปีอีกด้วย
โดยวิชาคณิตศาสตร์ อันดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ ได้คะแนนสูงถึง 575 คะแนน ตามด้วยมาเก๊า (552 คะแนน) ไต้หวัน (547 คะแนน) ฮ่องกง (540 คะแนน) และญี่ปุ่น (536 คะแนน) ส่วนประเทศไทย ได้ 394 คะแนน ลดลงจากการสอบครั้งก่อน 25 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 58
วิชาการอ่าน อันดับที่ 1 ยังคงเป็น สิงคโปร์ (543 คะแนน) รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ (516 คะแนน) ญี่ปุ่น (516 คะแนน) เกาหลีใต้ (515 คะแนน) และไต้หวัน (515 คะแนน) ในวิชาการอ่าน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 64 เท่านั้น ด้วยคะแนน 379 คะแนน ลดลง 14 คะแนน
และวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 1 ยังหนีไม่พ้น สิงคโปร์ (561 คะแนน) ตามมาด้วย ญี่ปุ่น (547 คะแนน) มาเก๊า (543 คะแนน) ไต้หวัน (537 คะแนน) และเกาหลีใต้ (528 คะแนน) ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 58 ได้ 409 คะแนน ลดลง 17 คะแนน
ในทั้ง 3 วิชา พบว่า ประเทศไทยเป็นรอง สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซียทั้งหมด และเมื่อย้อนดูคะแนนPISA ของประเทศไทยก่อนหน้านี้ พบว่า ผลสอบ PISA 2022 เป็นคะแนนที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีของไทย โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเดิมทีไทยอยู่ในระดับสูงกว่า 400 คะแนนมาตลอด ก็เป็นครั้งแรกที่ตกลงมาอยู่ในหลัก 300
แม้ OECD ระบุว่า การที่คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกของวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอันน่าตกใจของโควิด-19 ในประเทศส่วนใหญ่
โดยทุกประเทศมีคะแนนทั้ง 3 วิชาหรือบางวิชาลดลง และมีเพียง 4 ประเทศ/เขตพื้นที่เท่านั้นที่คะแนนทั้ง 3 วิชาดีขึ้น ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สาธารณรัฐโดมินิกัน และไต้หวัน
ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของ OECD อันเดรียส ชไลเชอร์ ระบุว่า “โควิด-19 น่าจะมีบทบาทบางอย่าง แต่ไม่มากขนาดนั้น เรื่องของปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่และมีแนวโน้มที่จะเป็นคุณปัญหาถาวรของระบบการศึกษาของเราต่างหาก ที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง”
จากรายงานผลคะแนนยังพบว่า ประเทศที่ให้การสนับสนุนครูเพิ่มเติมในช่วงปิดโรงเรียนช่วงโควิด-19 จะมีคะแนนที่ดีกว่า และโดยทั่วไปแล้ว ผลคะแนนจะดีกว่าในประเทศที่ครูสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือพิเศษได้โดยง่าย
ผลคะแนนในประเทศที่ย่ำแย่ สัมพันธ์กับอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือในยามว่าง ที่สูงขึ้นช่วงโควิด-19 และการขาดแคลนครูของบางโรงเรียน
ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านการศึกษาระดับแถวหน้าของไทย ให้สัมภาษณ์ คมชัดลึก ถึงปมปัญหาทำไม ผลสอบ PISA ประเทศไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ว่า คะแนน PISA คราวนี้สะท้อนปัญหาการศึกษาไทยตกต่ำแบบกราวรูด เป็นวิกฤติที่ซ้อนวิกฤติยกกำลังสอง เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ยังแก้ไขปัญหาการศึกษา ในรูปแบบเดิมๆ ทำให้วันนี้คนไทยได้เห็นการศึกษาไทยตกยุค ตกขอบ ล้าหลัง และเดินหน้าต่อไปไม่ได้แล้ว หากศธ.ทำได้แค่นี้ ตนแนะนำให้ยุบกระทรวงศึกษาฯเสียเถอะ
5 ปัจจัยทำเด็กไทยคะแนน PISA ต่ำสุดรอบ 20 ปี
1.หลักสูตรล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21
- หลักสูตรล้าหลัง
- สอนท่องจำมาสอบ
- สอบเพื่อเรียนต่อ
- เนื้อหาวิชาตกยุค
- เด็กขาดทักษะชีวิต
- โลกแคบเรียน 8 กลุ่มวิชาสาระ
2.โควิด-19 เด็กเรียนรู้ถดถอนทั่วโลกรวมถึงเด็กไทย
- ปกติเด็กไทยก็เรียนรู้ถดถอน
- การฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กไม่มากพอ
3.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- เด็กชนบทกับเด็กในเมืองใหญ่
- ความยากจน
- เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษาสู่ปีที่3
- คุณภาพของเด็กตกต่ำ
4.ช่วงโควิด-19 เด็กหลุดจากระบบจำนวนมาก
- เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
- เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน
- เด็กเรียนออนไลน์ตามลำพัง
- เด็กติดมือถือ
- เด็กติดเกม
5.ศธ.ไม่จริงจังแก้ปัญหาการศึกษา
- ศธ.ตื่นตระหนกคะแนนPISA ตำต่ำแค่ 5 วัน
- หลัง 5 วัน ศธ.กลับมาเหมือนเดิม
- การศึกษาไทยตกยุคมา 8-9 ปี
- ปัญหาการศึกษาซับซ้อนมากขึ้น
- ศธ.ทำแบบเดิมคะแนนPISA ก็ตกต่ำเหมือนเดิม
- แนะยุบศธ.