ปมดราม่า 'ครูชัยยศ' ป.ป.ช. แจงยิบ ความผิด ไม่ใช่แบ่ง อาหารกลางวันเด็ก
ป.ป.ช. แจงละเอียดยิบ ปมดราม่า 'ครูชัยยศ' ถูกปลด ไม่ใช่แบ่ง 'อาหารกลางวันเด็ก' แต่เซ็นรับรองรายการจ่ายเงิน ค่าอาหาร อันเป็นเท็จ
หลังจากเกิดประเด็นดราม่า กรณี “ครูชัยยศ” นายชัยยศ สุขต้อ ครูโรงเรียนบ้านยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มีคำสั่งปลดออกราชการ เนื่องจากครูชัยยศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอาหารกลางวันเด็ก นำอาหารในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา แบ่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรับประทาน เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบไม่เป็นตามระเบียบนั้น จนเกิดกระแสโจมตีอย่างหนัก
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า โรงเรียนบ้านยางเปา เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ได้มีการขออนุญาตให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีนักเรียน 2 ประเภท คือ นักเรียนไปเช้ากลับเย็น และนักเรียนพักนอน
โดยนักเรียนพักนอน ได้รับการสนับสนุนค่าอาหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษา จะได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจาก อบต.อมก๋อย โดยเมื่อปี 2561 โรงเรียนบ้านยางเปา นักเรียนระดับประถมศึกษาและอนุบาล จำนวน 235 คน นักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 244 คน โดยมีนักเรียนพักนอน (รวมประถมและมัธยม) จำนวน 169 คน
ส่วนการดำเนินการจัดหาอาหารกลางวัน กำหนดให้โรงเรียนต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และจะจ่ายเงินได้ เมื่อมีการตรวจรับ และลงลายมือชื่อของคณะกรรมการตรวจรับครบถ้วน โดยนายจรัส สุพรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ และตรวจรับอาหารกลางวันนักเรียนฯ มีนางบุณยนุช ใจปินตา เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหารนางจิราพรรณ จาตุนันท์ และนายชัยยศ สุขต้อ เป็นกรรมการตรวจรับ
การจัดหาอาหารกลางวันนักเรียนพักนอน ปี 2561 จำนวน 15 สัปดาห์ ปรากฏว่า นางบุณยนุช ไม่ได้ดำเนินการขออนุมัติจัดซื้อ ตามแบบรายการและเอกสารของทางราชการที่กำหนด ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยนางบุณยนุช ทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และอาหารนักเรียนพักนอนเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งนายจรัส สุพรรณ์ ได้อนุมัติให้ยืมเงินสำหรับโครงการอาหารกลางวันฯ โดยไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ
เมื่อนางบุณยนุช ได้ทำการยืมเงินโครงการอาหารกลางวันฯ สัปดาห์ละประมาณ 60,000 บาท แล้ว นางบุณยนุช เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบ เพื่อประกอบอาหาร และจ้างคนครัวเพื่อประกอบอาหารเองไม่เกินสัปดาห์ละ 48,500 บาท (โดยไม่มีการทำสัญญาจ้าง และไม่มีหลักฐานการเข้ามาประกอบอาหารแต่อย่างใด)
โดยในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท จำนวน 15 สัปดาห์ เป็นเงิน 172,240 บาทนั้น พบว่า ในระหว่างสัปดาห์ นางบุณยนุช ได้มีการจัดซื้อเพิ่มเติมจาก 2 แห่ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า แต่ละสัปดาห์ได้มีการจัดซื้อเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ขอใบเสร็จรับเงินจากร้านค้า เมื่อตรวจสอบเอกสารชดใช้เงินยืม นางบุณยนุช ได้จัดพิมพ์ใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารเป็นเท็จ แยกเป็นรายวัน วันละ 3 ใบ รวม 15 ใบ ทั้งที่มีการส่งอาหารสดและอาหารแห้งมายังโรงเรียนบ้านยางเปาสัปดาห์ละครั้ง โดยระบุใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารไม่เกินใบละ 10,000 บาท โดยเพิ่มราคาต่อหน่วยของวัตถุดิบ ซึ่งนางจิราพรรณ และ ครูชัยยศ ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับ ได้ลงลายมือชื่อรับรอง และนางบุณยนุช จึงได้นำใบรับรองดังกล่าวมาเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน
ดังนั้น การที่นางบุณยนุช ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหารกลางวัน ทำการขออนุมัติยืมเงิน เพื่อจัดหาอาหารกลางวัน และนายจรัส สุพรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา อนุมัติให้ยืมเงินโดยไม่ได้ขออนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และนางบุณยนุช ทำใบรับรองการจ่ายเงิน เป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน โดยมีนางจิราพรรณ และ ครูชัยยศ ลงชื่อรับรองอันเป็นเท็จ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบในภายหลัง ว่าการจัดซื้อจัดหาอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านยางเปา ดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ อีกทั้งการไม่ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบย่อมเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนบ้านยางเปา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
- นายจรัส สุพรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
- นางบุณยนุช ใจปินตา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
- นางจิราพรรณ จาตุนันท์ และนายชัยยศ สุขต้อ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายจรัส สุพรรณ์ นางบุณยนุช ใจปินตา นางจิราพรรณ จาตุนันท์ และนายชัยยศ สุขต้อ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561มาตรา 91 (1) และ (2) แล้วแต่กรณีต่อไป
นายนิวัติไชย กล่าวว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากการนำเสนอข่าว จำนวน 2 ประเด็น คือยอดเงินในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท รวม 15 สัปดาห์ เป็นเงินจำนวน 172,240 บาท ที่ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ และจากการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนว่า ครูชัยยศ ถูกปลดออกจากราชการ สืบเนื่องจากการที่ครูชัยยศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน นำอาหารในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา แบ่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรับประทานนั้น เป็นการเผยแพร่ข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง