ถอดบทเรียน 'โรงเรียนขนาดเล็ก' สู่ 'ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน'
จาก 'โรงเรียนขนาดเล็ก' สู่ภาพรวมการศึกษาของประเทศ’ ถอดบทเรียนโครงการ 'ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน'
ผลประเมิน PISA ล่าสุด เด็กไทยวิกฤติ คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี แน่นนอนเรื่องนี้สะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกนัยยะคือผลประเมินนี้กำลังบอกว่า การศึกษาไทยในแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ความก้าวหน้าของโลกทุกวันนี้ ร่วมถึงสิ่งที่เด็กต้องเจอในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดเวทีสาธารณะเรื่องเล่า - ประสบการณ์ – ความท้าทาย และนวัตกรรมการจัดการ โรงเรียนขนาดเล็ก ร่วมกับ ชุมชน ในเวทีการแบ่งปันการเรียนรู้ ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน
โจทย์ของ โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ผ่านมาเห็นว่า หลาย โรงเรียน พยายามอย่างมากในการปรับตัว รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) สะท้อนมุมมอง ฟังข้อเสนอในเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่อยากเห็นคุณภาพการศึกษา เห็นอนาคตของเด็กนักเรียนใน ชุมชน ในพื้นที่เหลื่อมล้ำมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ก้าวหน้าดีกว่าที่เป็น
“โครงการ ACCES School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งแอ็คชั่นเอดทำงานประเด็นเรื่องการศึกษามามากกว่า 20 ปี จนพบคำตอบของการศึกษาที่ว่า การศึกษาที่ใกล้ตัวเราที่สุดอยู่ที่โรงเรียน อยู่ที่ชุมชน คนที่อยู่ใกล้การศึกษามากที่สุดคือ เด็ก คุณครู ผู้ปกครอง ชุมชน”
จากการทำงานกับโรงเรียนเครือข่ายทั้งภาคกลาง เหนือ อีสาน โดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ อาทิ โรงเรียนสอนคิด ซึ่งเป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นโดยโรงเรียน King’s School โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนซ์ รวมถึงนวัตกรรมจิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และ ชุมชน การเรียนรู้ทางวิชาชีพ ที่ได้รับต้นแบบมาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ นำเครื่องมือเหล่านี้ทำงานกับโรงเรียนและครู ปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยเน้นการสอนแบบ Active Learning ฝึกให้ผู้เรียนได้คิดวิพากษ์และมีระบบเพื่อหาคำตอบ ซึ่งคำตอบอาจไม่ได้มีเพียงข้อเดียว จากการเรียนแบบไม่มีตำตอบตายตัวที่ใช้จิตวิทยาเชิงบวก จะเสริมสร้างนิสัยช่างคิด กล้าแสดงออก และก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
“ผลลัพธ์สูงสุดอยู่ที่เด็ก การเรียนที่ไม่ต้องจัดลำดับความเก่งของเด็กด้วยคะแนนและตัวเลขบางอย่าง จากการทำงานเราได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียนที่ตอบโจทย์โลกในปัจจุบันและนำพาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีศักยภาพ เกื้อกูล เด็กมีทักษะชีวิต มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งการมีความรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เด็กที่มีทักษะชีวิตดีจะนำพาชุมชน สังคม ประเทศไทยให้พัฒนาขึ้นได้”
เพราะฉะนั้นจากข้อมูล แอ็คชั่นเอดร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สมาคมไทบ้าน เครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.น่าน เขต 1 สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ และสภาพัฒนาการศึกษามหาสารคาม ร่วมกันดำเนินโครงการชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชนนี้ขึ้น
“เรามีเป้าหมายในการขยายผลการใช้นวัตกรรมเหล่านี้สู่ทั้งหมด 400 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด นอกจากนั้นยังขยายความสัมพันธ์ในการทำงาน ไม่ใช่แค่เฉพาะทางโครงการกับโรงเรียนและชุมชนเพียงเท่านั้น เราแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ท้องถิ่น หน่วยงานรัฐอื่นๆ ประมง เกษตร ฯลฯ ให้มาร่วมกันช่วยกันในการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน”
เมื่อโรงเรียนไม่โดดเดี่ยว เด็กๆ ก็ไม่โดดเดี่ยวเช่นกัน "น้องติ๊ก" ด.ญ.วริษา จันทร์อ่ำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เล่าถึงโรงเรียนเดิมที่ได้เรียนตั้งแต่เด็ก จนถึง ป.6 ความประทับใจและสิ่งที่ได้เผชิญในโรงเรียนวัดโคกทอง โรงเรียนขนาดเล็กจากความทรงจำในวันที่เข้าสู่วัยมัธยม
“ในตอนที่หนูเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดโคกทอง เคยเรียนที่นี่ตอน อนุบาล 1 แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนช่องพาน ย้ายกลับมาตอน ป.3 ก็รู้สึกว่าโรงเรียนเปลี่ยนไปมาก แม้ว่าโรงเรียนจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีการสอนที่ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น มีการสอนจิตศึกษา ทำให้เด็กมีความกล้าแสดงออก สนุกกับการเรียน เรียนง่ายขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น ไม่มีการจด มีแต่การแนะนำเสนอความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในห้องเรียน ข้อดีที่หนูเห็นคือ นักเรียนสนุก เรียนเข้าใจ ครูสอนทั่วถึง แถมเป็นโรงเรียนที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ต้องไปเรียนในตัวเมือง สำหรับหนูรู้สึกดีมาก เรามีความรู้ มีความสามารถในการแสดงออก”
โรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ได้แข่งกับใคร เด็กหญิงวริษาเล่าว่า ครูแค่ต้องการให้เด็กเข้าใจที่ครูสอน ต้องการให้เด็กมีความรู้ แม้ผู้ปกครองบางท่านอาจกังวลถึงวิธีการเรียน ที่ไม่มีการบ้านให้เด็กมาทบทวนหลังเลิกเรียน แต่ท้ายที่สุดผลลัพธ์จากตัวเด็กก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การสอบ
โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นปัญหาจริงหรือ? "ผอ.แหม่" น.ส.ชนิตา พิลาไชย ประธานเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) ชวนตั้งคำถามและเล่าว่า เดิมทีปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเกิดขึ้นจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนตกต่ำในปี ’53-57 ไม่ว่าผล NT ผล O-NET มีเด็กออกจากโรงเรียนเข้าไปเรียนโรงเรียนในตัวเมืองสูง เมื่อผลสัมฤทธิ์ต่ำ โรงเรียนขนาดเล็กจึงถูกปรามาสว่าเด็กไม่มีคุณภาพ
“จากเหตุการณ์นี้ เราพบว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ออกแบบนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีคุณภาพ นั่นก็คือการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วย PBL การสร้างให้เด็กมีภาวะจิตจดจ่อผ่านจิตศึกษา และเครื่องมือที่จะสามารถทำให้คุณครูจัดการเรียนรู้ร่วมกันและออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันได้คือ PLC ได้ลงมือพาครูไปอบรม และลงมือทำ จนปี ’60 ได้พบกับเพื่อนโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา (ภาคกลาง) สร้างคุณภาพการศึกษาในห้องเรียนและทำงานร่วมกันจนถึงปัจจุบัน”
โจทย์ใหญ่ “ยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” จนถึงวันนี้ เราสามารถแสดงผลลัพธ์ให้ได้เห็นแล้ว ทั้งร่วมมือกันพัฒนาครูให้เป็นครูมืออาชีพ มีครูโค้ชอยู่ทุกจังหวัด มีเครือข่าย และภาคประชาสังคม ให้ โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นที่พึ่งของ ชุมชน ภาครัฐและเอกชนเสริมหนุนซึ่งกันและกัน
“เราแก้ไขปัญหาการศึกษาได้อย่างแท้จริง เกิดผลลัพธ์สูงสุดคือ เด็กทุกคนสามารถเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้” ผอ.แหม่มกล่าว
ปัจจุบัน โครงการ ACCESS School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน มีโรงเรียนขนาดเล็กและกลางในเครือข่ายจำนวนมากกว่า 400 โรงเรียน มีชุมชนกว่า 1,400 ชุมชนและเด็กที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำงานแล้วกว่า 60,000 คน เวทีนี้จึงเป็นเหมือนการทบทวนบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ในการทำงานร่วมกับกับครู โรงเรียนขนาดเล็ก ชุมชน วัด ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานท้องถิ่น และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อเสนอซึ่งกันและกัน