สพฐ.จัดระเบียบ ‘แก้หนี้ครู’ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 9 แสนราย มูลหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท
ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ. เอาจริง สั่ง สพฐ.จัดระเบียบ ‘แก้หนี้ครู’ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 9 แสนราย มูลหนี้1.4 ล้านล้านบาท ตั้งอนุกรรมการฯ 7 คณะดูแล หวังคืนศักดิ์ศรีให้ครูกลับมายิ้มได้
วันที่ 18 ธ.ค. 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ กรณีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบ Video Conference
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล) มีนโยบายให้ สพฐ. หาแนวทางผ่อนคลายภาระหนี้สิน เพื่อสร้างความสุขแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะแหล่งข้อมูลหนี้สินครูที่ใหญ่ที่สุดของ ศธ. อยู่ที่ สพฐ. ดังนั้น ในวันนี้ จึงได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือและมอบแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ทั่วประเทศ
หนี้ครูแยกออกเป็น 3 กลุ่ม
เพื่อขับเคลื่อนมาตรการลดภาระหนี้สิน เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ สำรวจสภาพหนี้และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มสีแดง หรือ กลุ่มวิกฤต คือ ผู้ที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% หลังจากหักการชำระหนี้ และกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดย เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ เร่งช่วยเหลือเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชะลอการดำเนินการทางกฎหมายและหาแนวทางบริหารจัดการหนี้ต่อไป
2.กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% มีแนวโน้มจะเป็นหนี้วิกฤต ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคุมยอดหนี้
3.กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มครูที่มีหนี้เล็กน้อย ถึงไม่มีหนี้สิน
“ในเชิงการป้องกัน ได้เน้นย้ำผู้บังคับบัญชา ทั้ง ผอ.เขตพื้นที่ และ ผอ.โรงเรียน ให้ตรวจสอบสภาพหนี้สินครูก่อนมีการอนุมัติกู้ในระบบต่างๆ เพื่อคงสภาพของกลุ่มสีเขียวและกลุ่มสีเหลืองเอาไว้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ ให้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นตัวชี้วัดของสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ฯ และจะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เป็นรายเดือนต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว
ทางด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมี รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา จัดทำแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ของประชาชนทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขหนี้กลุ่มข้าราชการ ในเบื้องต้น ดังนี้
1. ตระหนักถึงปัญหาความซับซ้อนของหนี้ข้าราชการครู จำนวน 900,000 ราย มูลหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท
2. กำหนดให้มีเงินเหลือเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน โดยภายในเดือนมกราคม 2567 จะต้องมีการดำเนินการเบื้องต้นที่ชัดเจน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย/ปรับจำนวนงวดให้ยาวขึ้น ไม่เกินอายุ 75 ปี
3. กำชับมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการดำเนินงานของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551
4. ขยายผลจาก ข้อ 1-3 ไปยังหนี้นอกระบบ
“เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับแนวทางของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ย่อย อีก 7 คณะ เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมทุกมิติ และขอให้สถานีแก้หนี้ครูร่วมปฏิบัติงานที่สำคัญนี้กับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรในสังกัดดีขึ้นต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครู มีความพยายามมาทุกรัฐบาล แต่ไม่สามารถแก้หนี้ครูได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญมาจาก เจ้าหนี้รายใหญ่ของครูคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ ซึ่งคิดดอกเบี้ยมากกว่า 3 % ซึ่งครูเรียกร้องมานานขอให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อย 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนครูมีหนี้เงินเดือนติดตัวแดง