ข่าว

'ศุภชัย' ชี้ หากการสอบวินัยร้ายแรง 'วรรณธรรม' มีข้อบกพร่อง ควรชะลอไว้ก่อน

'ศุภชัย' ชี้ หากการสอบวินัยร้ายแรง 'วรรณธรรม' มีข้อบกพร่อง ควรชะลอไว้ก่อน

21 ธ.ค. 2566

สอบวินัยร้ายแรง สกัด 'วรรณธรรม' ส่อถูกกลั่นแกล้ง ด้าน 'ศุภชัย' ชี้ หากการสอบมีข้อบกพร่อง ควรชะลอการสอบไว้ก่อน และควรเร่งเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อธิการบดีมสธ.ให้เร็วที่สุด

คืบหน้าการนำเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ชนะการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) โดยล่าสุด นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย) ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ว่า เมื่อวานนี้( 20 ธ.ค. 2566) รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น อธิการบดี มสธ. ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรม กรณีถูกกลั่นแกล้งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเพื่อให้ได้รับโทษทางวินัยและมีมลทินมัวหมอง อันอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมสธ. อันเป็นพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

ประเด็นที่ รศ.ดร.วรรณธรรม ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากที่ปรึกษารองนายกฯ และที่ปรึกษารมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วินัยและนวัตกรรม(อว.)พอสรุปได้ดังนี้

 

 

1. รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดี มสธ. ต้น ปี 2560 แต่สภา มสธ. ไม่ยอมเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มสธ. อ้างว่ามีการฟ้องร้องว่าการสรรหาไม่ชอบ

 

 

2. ต่อมา ต้นปี 2566 เวลาผ่านไป 7 ปี ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าการสรรหาอธิการบดี มสธ. ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ รวมถึงคุณสมบัติของรศ.ดร.วรรณธรรม ก็ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

 

3.สภา มสธ. ก็ยังไม่ยอมเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ใช้วิธีประวิงเวลาไปเรื่อย ๆ ล่าสุดอ้างว่ามีคดีการถอดถอนอธิการบดี มสธ.รายเดิมยังไม่สิ้นสุด รอศาลปกครองพิพากษาให้ถึงที่สุดก่อน


 

\'ศุภชัย\' ชี้ หากการสอบวินัยร้ายแรง \'วรรณธรรม\' มีข้อบกพร่อง ควรชะลอไว้ก่อน

4. จนกระทั่ง น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ  มารับตำแหน่ง รมว.อว.ได้เรียกให้สามฝ่ายมาหารือ มีฝ่ายรศ.ดร.วรรณธรรม ฝ่ายสภามสธ.และมสธ. แล้วก็ฝ่าย กระทรวง อว. ในที่สุดก็มีมติที่ประชุมร่วมกันทุกฝ่ายในวันที่ 22 พ.ย. 2566 ขอให้สภา มสธ. เสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.ดร.วรรณธรรม เป็นอธิการบีดมสธ. ได้โดยไม่ต้องรอศาล เพราะมีแนวทางที่กระทำได้ตามกฎหมายไว้อยู่แล้ว

 

 

5.วันต่อมาสภา มสธ.ไปประชุมกัน 23 พ.ย. 2566 ก็ยังมีมติว่าไม่ยอมเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อธิการบดี มสธ. อีก จนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 รมว.อว.ใช้อำนาจตามมาตรา 17 (10) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารกระทรวงการอุดมศึกษาฯเสนอแนะให้สภา มสธ. เร่งเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.ดร.วรรณธรรม เป็นอธิการบดี มสธ.

 

 

6.ขณะที่หนังสือ รมว.อว. ได้บัญชาเสนอแนะให้สภามสธ.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เร่งเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมสธ. รายรศ.ดร.วรรณธรรม ลงวันที่วันที่ 8 ธ.ค. 2566 แต่ยังไม่ทันให้สภามสธ.พิจารณา ฝ่ายบริหาร มสธ.ชุดรักษาการปัจจุบันนี้ ชิงตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง รศ.ดร.วรรณธรรม ก่อน เพราะหากมีการสอบวินัยร้ายแรงอยู่จะทำการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไม่ได้

 

 

7.รศ.ดร.วรรณธรรม จึงมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมจาก รมว.อว.และที่ปรึกษารองนายกฯ เพื่อให้ท่านใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการ

 

 

8.ประเด็นที่สอบสวนวินัยร้ายแรงรศ.ดร.วรรณธรรม มี 4 ประเด็น รศ.ดร.วรรณธรรม ได้โต้แย้งแสดงหลักฐานข้อต่อสู้ไว้แล้ว

 

 

“เบื้องต้นพบว่า ความบกพร่องในกระบวนการที่สอบข้อเท็จจริงรศ.ดร.วรรณธรรม สองรอบ รอบแรก สอบแล้วไม่เจออะไร รอบที่สอง เอาพรรคพวกตัวเองมาสอบ ทั้ง ๆ ที่การเอาคนของคู่กรณีมาสอบ ตามกฎหมายเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะจะทำให้สำนวนการสอบสวนเสียไปทั้งหมด อีกทั้งยังมีพฤติการณ์แทรกแซงการสอบสวน เช่น ผู้บริหารไปคุกคามพยาน เป็นต้น" นายศุภชัย กล่าว

 

 

ที่ปรึกษารองนายกฯ ระบุอีกว่า จากการสอบถามรศ.ดร.วรรณธรรม คิดว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งจูงใจที่ไม่ยอมกัน ได้คำตอบว่าการกระทำอย่างนี้ มันอาจจะมีเงื่อนงำเกี่ยวกับการนำเงิน มสธ. จำนวน 5,500 ล้านบาท ตามข่าวสารต่างๆ ที่นำไปลงทุนกับบริษัทภายนอกที่ตัวเองเคยเป็นกรรมการหรือไม่อย่างไร หรือว่าเป็นเรื่องอื่น ซึ่งขณะนี้ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อหาวิทยาลัยจนยากต่อการเยียวยา และเป็นการฝ่าฝืนธรรมาภิบาลร้ายแรง

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องร้องเรียนและมีความเห็นนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.(น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี) ว่า

 

 

1.ควรดำเนินการตามข้อร้องเรียน โดยรมว.อว.อาศัยอำนาจตามม.17(11)แห่งพ.ร.บ.ให้ชะลอการสอบสวนวินัยร้ายแรงไว้ก่อน แล้วให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ โดยคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความเป็นกลาง

 

 

2.เห็นควรให้สภา มสธ. เร่งรัดการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง อธิการบดี มสธ.โดยเร็ว

 

 

นายศุภชัย เผยอีกว่า เรื่องที่ถูก กล่าวหาสอบสวนวินัยร้ายแรงนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ รศ.ดร.วรรณธรรม เป็นผู้อำนวยการโครงการ โดยไปเปิดบัญชี ที่ ชื่อว่าโครงการความร่วมมือฯ ทั้งนี้ ไม่ใช่ บัญชีราชการ จึงดูเหมือนกับเป็นบัญชีราชการ และเป็นเรื่อง การจัดกิจกรรม ต่างๆ กับกลุ่มนักศึกษากำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ใช้เงินสมทบ มาจัดกิจกรรมไม่ได้เกี่ยวกับเงินราชการไม่ใช่เงินบริจาค 

 

 

“เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายคณะหลายสาขาวิชา ที่นักศึกษาสมทบเงินออกเงินกันเองมาร่วมจัดงานต่างๆ และมีการทำรายรับรายจ่ายอย่างชัดเจน มีการตรวจสอบ ตลอดจน ไม่ได้ขัดระเบียบ ใดๆ ของราชการทั้งสิ้น จึงอาจเป็นการกลั่นแกล้ง ให้มลทินมัวหมอง สกัดกั้น ไม่ให้มีการ เสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง อธิการบดีมสธ.”ที่ปรึกษารองนายกฯ กล่าวสรุป