เปิดใจ ‘เมธินี’ แรง ‘ศรัทธางานที่ทำ’ นำมาซึ่ง ‘รางวัลบุคลากรดีเด่นปี66’
‘รศ.ดร.เมธินี’ เปิดใจ ถึงรางวัลจากความมุ่งมั่น ด้วยแรงศรัทธาและรักในงานที่ทำ มากว่า 22 ปี นำมาซึ่งความสำเร็จคว้ารางวัล ‘บุคลากรดีเด่น’ ประจำปี2566 ด้านบริการวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์
รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ด้วยวัย 52 ปี เหลือเวลารับราชการอีกเพียง 8 ปี ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรสายวิชาการ ระดับดีเด่น ด้านการบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2566 กลุ่มอายุงาน 15 ปี ขึ้นไป
โดยได้เข้ารับรางวัลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 จากคณะศึกษาศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี เล่ห์มงคล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้มอบรางวัลในครั้งนี้
รศ.ดร.เมธินี เปิดใจว่า ขอบพระคุณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอย่างสูงที่กรุณามอบรางวัลบุคลากรระดับดีเด่น ประจำปี 2566 ดีใจที่สิ่งที่ตนเองได้มุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อมหาวิทยาลัยส่งผลให้ได้รับรางวัลมาเป็นปีที่ 4 อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการรับราชการมาจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัวอย่างมาก ถือเป็นอีกหนึ่งขวัญกำลังใจที่ดีที่สุดในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสังคมต่อไป
โดยส่วนตัวแล้วตนเองเป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงานที่รักและที่ได้รับมอบหมายอย่างสูงสุด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาใดๆ ที่ก้าวเข้ามา เพราะเชื่อว่า ปัญหาและอุปสรรคจะเป็นแรงผลักดันให้เราต้องใช้ความสามารถอย่างที่สุดเพื่อให้ผ่านพ้นไปได้. โดยใช้ความรักและความศรัทธาที่มีอยู่ในตัว เชื่อว่าหากเรามีความรักและความศรัทธาใดๆ จะทำให้เราสามารถทำสิ่งนั้นออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่เรามีความรักและความศร้ทธาแต่เพียงเท่านั้น. ยังจะใช้หลักธรรมมะในการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาที่รับราชการ คือ หลักอิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เริ่มจากการมีความรักในงานที่ทำ รักองค์กร สถาบัน คณะ ภาควิชา สาขาวิชา หากเรามีใจรักในงานที่ทำก็จะทำให้เรานั้นทำงานอย่างมีความสุข อันจะนำไปสู่หลักวิริยะ คือ ความพากเพียร มุ่งมั่น ตั้งใจ อดทนเข้มแข็งที่จะต่อสู้ฝ่าฟันต่อปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในงาน
“ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลา พร้อมที่จะเติมเต็มอยู่เสมอ สิ่งไหนที่เราไม่รู้ ก็หมั่นเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ ก็จะทำให้เราเกิดความรู้ใหม่ ๆ เกิดสมาธิ เรียกว่า จิตตะ คือรับรู้ในสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำด้วยความคิด จิตใจจดจ่อ ฝักใฝ่อยู่กับสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ และหมั่นทบทวน ไตร่ตรอง ใช้สติปัญญาที่มีทบทวนอยู่เสมอ และเปิดรับความคิดเห็นจากคนรอบข้าง เพื่อนำมาพิจารณาใคร่ครวญเพื่อให้การงานนั้นประสบความสำเร็จ โดยใช้เหตุและผลไตร่ตรองใคร่ครวญเพื่อป้องกันปัญหาไม่เกิดขึ้น ในหลักอิทธิบาท 4 ที่เรียกว่า วิมังสา นั่นเอง”
รศ.ดร.เมธินี เล่าว่า ตนเองยังยึดหลักในการครองตน ครองคน และครองงาน นำมาใช้ในการการดำเนินชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขราบรื่น อย่างมีสติ สัมปชัญญะ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดน้อยที่สุด ทำแต่ความดี ช่วยเหลือให้ผู้อื่นเมื่อมีโอกาส และเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักกาลเวลา รู้จักประมาณ รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล และรู้จักตนเองทำจิตใจให้ผ่องใส ทำอย่างไรให้ตนเองมีความสุขและคนรอบข้างก็มีความสุขไปด้วย โดยให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เสริมสร้างความสุขให้กับผู้น้อย
โดยใช้แนวคิดที่ว่า “คนสำราญ งานสำเร็จ”และในการครองคน หมั่นให้กำลังใจทั้งตนเองและผู้อื่น รักษาน้ำใจทั้งคำพูดและการกระทำ และหลักการครองงาน ก็จะใช้หลักธรรมมะอิทธิบาท 4 เมื่อเราและทุกคนรอบข้างมีความสุขควาสำเร็จก็จะตามมา สำหรับรางวัลดังกล่าว เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านบริการวิชาการเป็นระยะเวลา 15 ปี ขึ้นไป และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งก็ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องและเป็นงานที่รักอีกงานหนึ่งนอกเหนือจากภารกิจด้านการเรียนการสอน และปัจจุบันก็ยังคงทำการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ
สำหรับงานวิจัยก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนงานบริการวิชาการได้รับโอกาสความไว้วางใจจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้จัดโครงการดีๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกอบการในระดับ SME ซึ่งในขณะเราได้ทำงานบริการวิชาการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการแล้วก็ยังได้เป็นการพัฒนาตัวเราเองไปในตัวด้วย ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เขาจะมีการพัฒนาตัวเองเขาเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปเสริมเติมเต็มในสิ่งที่เขาอาจจะยังขาดองค์ความรู้ หลักการ หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและถูกต้อง โดยเราก็นำเอางานวิจัยเข้าไปสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิชาการเพราะเรามีความรู้ที่จะไปช่วยเหลือเสริมเติมเต็มให้พี่น้องผู้ประกอบการได้ประสบความสำเร็จให้ครอบคลุมทุกมิติและทุกด้านที่เกี่ยวข้อง
โดยทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิของคณะวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง ได้แก่ รศ.ดร.วิเชียร กิจปรีชาวนิช และ รศ.ดร.จินตนา กาญจนวิสุทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มก. ซึ่งมก. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความโดดเด่นในด้าน Biotech เพราะเรามีนักวิชาการที่มีผลงานวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างมาก และเป็นทีมเวริ์ค ที่เข้มแข็งมากในทุกมิติโดยมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า เหตุใดเราถึงได้รับความไว้วางใจให้ร่วมเป็นคณะทำงานโครงการบริการวิชาการต่าง ๆ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลาหลายปีต่อเนื่อง เราสามารถช่วยพี่น้องทุกเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEวิสาหกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จทั้งยอดขาย รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามตัวชี้วัดของโครงการ รวมไปถึงการทำให้เกิดการลดปริมาณขยะให้กลายเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Zero Waste เป็นจริงได้ด้วยแนวทาง BIOTECT(เทคโนโลยีชีวภาพ) อันจะนำมาสู่การพัฒนาท่ียั่งยืน นับเป็นการหยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทางที่ทำได้จริงในด้านสิ่งแวดล้อมตามแบบ BCG Economy Model และ SDGs อีกด้วย
สำหรับการทำงานเป็นทีมนั้น นอกเหนือจากบุคลากรและองค์กรภายในมหาวิทยาลัยแล้ว เรายังได้มีเครือข่ายความเป็นทีม work จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ล่าสุดจะเห็นได้ว่าได้ทำความร่วมมือกับจาก สมาคมเส้นทางสายไหมไทย-จีน TCBRI (Thai-China One Belt One Road Investment Trade Association) ด้านงานวิจัย สร้างนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาทั้งไทยและจีน โดยมี ดร.ธนากร วุฒิสถิรกูล เป็นนายกสมาคมฯ ปัจจุบัน ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาบีอาร์ไอ (BRI Institute of Research Development on Economic and Education) ภายใต้ สมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน (Thai-China One Belt One Road Investment Trade Association)
“สังคมปัจจุบันเป็นสังคมของผู้สูงวัยมากขึ้น ปัจจุบันอาจารย์เมย์ อายุ 52 แล้ว เหลือเวลารับราชการอีกเพียง 8 ปี เท่านั้น อยากให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ทุก Generations ไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็ตามต่างมีความคิด ประสบการณ์ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเติมเต็มให้กับทุกบทบาทหน้าที่ เราจะต้องสร้างพลังที่เข้มแข็งในการทำงานร่วมกันในทุกวัยอย่างไร้รอยต่อ เพราะทุกคนนั้นล้วนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนการทำงานให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน
ขอให้เคารพประสบการณ์ของผู้ใหญ่ ศรัทธาในความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่อย่างไร้รอยต่อ อาจารย์ต้องการเห็นประเทศชาติยอมรับคนในทุกรูปแบบ เปิดกว้างทางความคิด ยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะความแตกต่างจะนำมาซึ่งการเติมเต็มในสิ่งใหม่ซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา หรือเรียกว่า วินวิน ทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งความสามัคคีทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งประเทศ” รศ.ดร.เมธินี กล่าวสรุป
อรวรรณ สุขมา : รายงาน