‘วิโรจน์’ แนะตัด งบปี67 ที่ไม่จำเป็น อีก 15,000 ล้าน ช่วยเด็กไม่หลุดจากระบบ
'วิโรจน์' อภิปรายจัดหนักวิกฤติการศึกษาไทย-รร.ขนาดเล็ก ตัวฉุดคะแนน PISA เด็กไทยรั้งท้าย ต่ำสุดในรอบ 20 ปี พร้อมแนะทางแก้ตัดงบปี67ในส่วนที่ไม่จำเป็นไปทำประโยชน์อื่นได้อีก 15,000 ล้านบาท ช่วยเด็กยากจนได้ทั้งประเทศไม่หลุดจากระบบการศึกษา
ที่รัฐสภาเปิดประชุมร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระแรก ภายใต้ผู้นำรัฐบาลชื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค. 2567 โดยการตั้งงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท นั้น
โดยเมื่อเวลา 13.34 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี2567 สัดส่วนกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยกล่าวถึงโครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ ปิซา PISA ที่สะท้อนถึงดัชนีชี้วัดคุณภาพคน การศึกษา และขีดความสามารถของประเทศ ระบบคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่แค่การสอบแข่งขันหรือชิงรางวัล
และปรากฏว่าผลการทดสอบ PISA ปี 2022 ที่ผ่านมา ใครยังอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเหมือนเดิม แต่ที่น่าตกใจคือเราได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เราเข้าร่วมการทดสอบตั้งแต่ปี 2000 ผ่านมา 20 กว่าปีแทนที่สอบแล้วจะได้คะแนนดีขึ้นนับวันมีแต่สาละวันเตี้ยลง หัวทิ่มลงไปเรื่อยๆ แบบโงหัวไม่ขึ้น
นำซ้ำผลต่างคะแนนระหว่างประเทศไทย กับประเทศ OECD หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นับวันจะทิ้งห่างไปเรื่อยๆ เหมือนเข้าสอบไปอย่างนั้น ไม่อ่านหนังสือ 20 กว่าปีจมปลักอยู่กับปัญหาเดิม จนรัฐบาลมองปัญหากลายเป็นเรื่องปกติแล้ว หลอนตัวเองว่าการศึกษาแบบนี้เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไปแล้ว จึงถือเป็นวิกฤติระบบการศึกษา
ยิ่งมาฟังการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีศึกษาธิการ ยิ่งต๊กกะใจ และยืนยันว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ คงไม่เทียบกับมาตรฐานประเทศอื่น นี่เป็นปัญหาที่คนระดับรัฐมนตรีมองปัญหาไม่เป็นปัญหา แต่เป็นสไตล์ จึงไม่แปลกใจที่งบกระทรวงศึกษาธิการในปี2567จะเป็นงบที่ทำงานแบบเดิมๆ ถ้าคาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรก็คงจะยากลำบาก
“ทุกวันนี้การศึกษาไทย ไม่ใช่แค่เดินตามประเทศอื่น แต่เรากำลังเดินหลงทาง เดินตามหลังแย่นะ มองไปข้างหน้าก็ยังเจอผู้เจอคน อาจจะถึงช้าหน่อย แต่ก็ยังไปถึงจุดหมาย แต่ที่รัฐมนตรีบอกว่าของเราเป็นตัวเราเอง นี่คืออะไรรู้หรือไม่ คือมองข้างหน้าก็ไม่เจอใคร มองไปข้างหลังก็ไม่เจอคน มองซ้ายเจอฮวงซุ้ย มองขวาเจอป่าช้า แต่ยังจะเดินหน้าต่อไป ยิ่งเดินต่อเสบียงก็ร่อยหรอ ยิ่งเดินเข้ารกเข้าพง เหมือนใช้งบไปเรื่อยๆ แต่ไม่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา”
นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุค ที่มีรัฐมนตรีชื่อเพิ่มพูน(พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ) แต่การศึกษาไทยถดถอยล้าหลัง พร้อมชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบคะแนนระหว่างโรงเรียนสาธิต ที่สังกัด อว. กับโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ. นับวันมีแต่จะถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะโรงเรียนสาธิตสามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง ในขณะที่โรงเรียน สพฐ. มีจำนวนไม่น้อยที่เต็มไปด้วยอำนาจนิยมและการบูลลี่ มีวิชาที่บังคับให้เรียน เรียนเยอะสอบแยะ นับวันจะมีแต่ดึงเด็กออกมานอกห้องเรียน เพื่อมาทำกิจกรรมสร้างหน้าสร้างตาให้ผู้บริหารสถานศึกษา รอคนส่วนกลางมาตัดริบบิ้น
นอกจากนี้ การบูลลี่ในโรงเรียนยังส่งผลเสียต่อการสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ 35-55 คะแนน แต่ในงบ ปี2567 ตนไม่เห็นงบที่จะใช้แก้อำนาจนิยมและการบูลลี่ในโรงเรียน เท่ากับว่ารัฐบาลจะปล่อยให้มีการบูลลี่กันต่อไป แก้กันแบบตามมีตามเกิด
นายวิโรจน์ ยังชี้ให้เห็นถึงงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่นๆ ที่ถือเป็นตัวแสบที่สุด กว่า 8,256 ล้านบาท ซึ่งแฝงไปด้วยโครงการที่ไม่จำเป็นและทับซ้อนกับกระทรวงอื่น ซึ่งบางโครงการอาจมีการหวังเงินทอนด้วย เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจากวงเงินต้องสงสัยนี้ ตัดได้อย่างน้อย 2,117 ล้านบาท
สำหรับวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ประสบปัญหางบไม่พอ ขาดแคนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ แต่กระทรวงศึกษาฯ ไม่เคยคิดแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เหมือนป่วยเป็นโรคร้ายแต่ให้กินแค่พารา ปล่อยให้ลุกลามตายไปเองตามยถากรรม การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่เป็นไปตามเป้า สะท้อนว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เลย
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ได้คำนวณว่าถ้าวิกฤตการศึกษายังเป็นแบบนี้ต้องรออีก 91 ปี กว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องถูก PISA ประจานอีก 30 รอบ ถ้าเราไม่กล้าหาญที่จะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง ไม่มีวันที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยได้เลย เพราะเหตุที่ PISA เราตกต่ำ ก็มาจากโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหากใส่ใจการบริหารงบและแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กรัฐบาลจะมีงบให้จัดสรรกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมแนะนำให้นำเงิน 4,000 ล้านบาท ไปเป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ อบจ. ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการรถรับส่งนักเรียนภายในจังหวัดและอีก 6,600 ล้านบาท ไปเพิ่มงบให้กับ กสศ. ให้เด็กยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาและยังเหลือจัดสรรอีก 4,502 ล้านบาท
“รัฐบาลบอกกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา ว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ผมก็เห็นว่ามันวิกฤตจริงๆ ไหงจัดงบออกมาแบบนี้ งบแบบนี้เหมือนกำลังบอกให้พ่อแม่บอกลูกหลานของตัวเองเรียนหนังสือแบบเดิมๆ ในระบบการศึกษาที่สิ้นหวัง ยอมจำนนให้กับอำนาจนิยมและการกดขี่ ยอมให้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรล้างสมอง ขโมยชีวิตไปอย่างสูญเปล่า สุดท้ายเด็กๆ ต้องเติบโตมาไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าแม้แต่จะคิดตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ เป็นแค่บ่าวไพร่คอยฟังคำสั่งของผู้เป็นนาย แล้วก็ค่อยๆ แก่ตัวตายจากไปในประเทศที่ต้องคำสาปแห่งนี้ และนี่เป็นเหตุผลที่ผมไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้”นายวิโรจน์ อภิปรายฯ