ข่าว

'พริษฐ์' ชงรื้อ งบปี67 'ศธ.' หลังพบ จัดสรรแบบไม่แก้วิกฤติการศึกษาไทย

'พริษฐ์' ชงรื้อ งบปี67 'ศธ.' หลังพบ จัดสรรแบบไม่แก้วิกฤติการศึกษาไทย

05 ม.ค. 2567

‘พริษฐ์’ สส.ก้าวไกล ชำแหละ งบปี67 ศธ. จัดสรรแบบไม่แก้วิกฤติ ชงผ่าตัดใหญ่ รื้อโครงสร้างในกระทรวง แนะต้องเพิ่มงบอุดหนุนเด็กยากจน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 งบประมาณด้านการศึกษา ว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามฉายภาพให้ประชาชนเห็นตลอด 2-3 วันนี้ คือการตั้งคำถามว่าท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่รัฐบาลบอกว่าประเทศเรากำลังเผชิญ ทำไมรัฐบาลถึงจัดสรรงบประมาณ เสมือนว่าวิกฤตเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะวิกฤตการศึกษา

ซึ่งผลการประเมิน PISA ที่วัดคุณภาพของระบบการศึกษาแต่ละประเทศทั่วโลก ถูกเผยแพร่ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตของการศึกษาไทยที่เรื้อรังมานาน

 

 

วิกฤตที่ 1 เรื่องสมรรถนะ หรือ การที่เด็กไทยเรามีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้ ทักษะของเด็กไทยถดถอยอย่างต่อเนื่องทุกด้าน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน จะอ้างว่าเป็นเพราะโควิด ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะคะแนนของไทยถดถอยมากกว่าประเทศอื่น ทั้งที่ประเทศเราปิดโรงเรียนน้อยกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ

 

 

วิกฤตที่ 2 คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการที่เด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน ช่องว่างทางทักษะของเด็กไทยกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามฐานะทางการเงินของครอบครัว ใครที่ผู้ปกครองส่งไปเรียนที่โรงเรียนชั้นนำได้ ก็จะมีทักษะสู้เด็กประเทศอื่นได้สบาย ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ของประเทศถูกประเมินว่ายังขาดทักษะในการนำความรู้มาใช้งานได้จริง

 

 

วิกฤตที่ 3 คือเรื่องความเป็นอยู่ หรือการที่เด็กไทยไม่มีความสุขในโรงเรียน ในด้านสุขภาพกาย เด็กไทยต้องอดอาหาร เยอะเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยเกือบ 3 ใน 10 ต้องอดอาหารอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะไม่มีเงินซื้ออาหาร ในด้านสุขภาพใจ เด็กไทยรู้สึกไม่ปลอดภัย ในโรงเรียนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกเช่นกัน

 

“ถ้านักเรียนในประเทศเราต้องเรียนด้วยความหิวโหย หรือความหวาดกลัว พวกเขาจะมีกะจิตกะใจมาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

 

 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทำไมปัญหาเหล่านี้ยังแก้ไขไม่ได้สักที ทั้งที่นักเรียนไทยลงทุนเวลาเรียนไปเยอะมาก เรียนหนักและมีชั่วโมงเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ทั้งที่ครูไทยลงทุนเวลาทำงานไปเยอะมากเช่นกัน จนแทบจะเป็นทุกอย่าง ตั้งแต่นักบัญชี ภารโรง หรือพ่อครัวแม่ครัว และประเทศเราก็ลงทุนงบประมาณไปกับการศึกษา ไม่น้อยกว่าประเทศอื่น แต่ลงทุนทั้งทรัพยากรเวลาและเงินไปขนาดนี้ ก็ยังนำพาเรามาสู่วิกฤต ณ ปัจจุบัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของทรัพยากร แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร

 

 

การกล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่ถ้าไม่เร่งแก้วิธีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา หรือ วิธีการใช้เงิน จะเพิ่มงบประมาณไปอีกกี่ล้านบาท จะทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาอีกกี่ครั้ง ก็แก้ปัญหาการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้

 

 

“เหมือนกับคนไข้ที่มีปัญหาที่หัวใจ จะให้เลือดเขาเพิ่มแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ วันนี้จึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ชื่อว่างบประมาณการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 4 ห้องหลักตามภารกิจหรือประเภทการใช้จ่าย”

 

 

ห้องที่ 1 คืองบบุคลากร ที่รวมถึงค่าตอบแทนครูและบุคลากรในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงคนทำงานตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่

 

 

ห้องที่ 2 คือเงินอุดหนุนนักเรียน ที่รวมทั้งการอุดหนุนให้กับโรงเรียนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี และการอุดหนุนให้กับนักเรียน-ผู้ปกครองโดยตรงผ่าน กสศ.

 

 

ห้องที่ 3 คืองบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ครอบคลุมทั้งอุปกรณ์ทางการศึกษา รถโรงเรียน อาคารเรียน สนามกีฬา เป็นต้น

 

 

ห้องที่ 4 คือ งบนโยบาย ที่ใช้ไปกับโครงการต่างๆ ที่รัฐบาล ณ เวลานั้น เห็นว่าสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา

 

เมื่อแบ่งแบบนี้จะเห็นว่า แม้งบประมาณในภาพรวมค่อนข้างคงที่ เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่การจัดงบปีนี้มีความพยายามลดงบลงทุนลง 23% หรือกว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อเอามาเพิ่มในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนนักเรียน อย่างไรก็ตาม ปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ

 

 

โดยสรุป เราจำเป็นต้องทำการเพิ่มเงินอุดหนุนให้เด็กยากจน ที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและสร้างภาระให้ผู้ปกครอง และอุดหนุนเงินให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้