โฆษก ศธ. โต้เพจดังปูดข่าว “โรงเรียนปล่อยเกรด” ยันประเมินตามมาตรฐาน
โฆษก ศธ. โต้เพจดัง แจงชัด “โรงเรียนปล่อยเกรด” ยันประเมินตามมาตรฐาน เปิดทางให้ “ครู” จัดการสอนและวัดผลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย หวังลดเด็กไม่ผ่านเกณฑ์ให้มากที่สุด
สะเทือนวงการศึกษา เมื่อเพจ “อะไรอะไรก็ครู” เผยแพร่ครูสุดท้อ ผอ.โรงเรียน อ้างคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ห้ามไม่ให้นักเรียน(นร.) ติดศูนย์(0) แค่โชว์หน้าก็ได้เกรด1 หรือ“โรงเรียนปล่อยเกรด” นั้น ล่าสุดมีคำชี้แจงจากโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ(โฆษก ศธ.)
โดย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีคำสั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 ให้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเข้าใจผิดให้แก่สังคม
กรณีดังกล่าวมาจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่าง สพฐ.ส่วนกลาง ถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริม ดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส.) ให้มีผลการเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ,ร. และ มส. และให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ
ซึ่งเจตนาคือเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ. ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียน ผู้สอน โดยซักซ้อมแนวทางการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รายงานความก้าวหน้า จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงให้แก่ผู้เรียน วางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาจากผลงาน ชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่น ได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การตัดสินผลการเรียนจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่
1.เวลาเรียน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
2.คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม จะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป
ส่วนกรณีที่ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างทันท่วงที ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดบทบาทการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ทั้งด้านของสถานศึกษา ครู และผู้เรียน
“ในอดีต อาจมีการติด 0 ร มส. ค้างเทอม ค้างปี ทำให้เด็กเสียโอกาส เป็นภาระผู้ปกครอง สถานศึกษาจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด ให้เด็กได้แก้ไขจนผ่านเกณฑ์ก่อนจบปีการศึกษา ดังนั้น การกล่าวว่า ศธ. สั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 ร มส. จึงไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยผมขอยืนยันว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐาน มีเกณฑ์ ในการประเมินผู้เรียนอยู่แล้ว และสามารถให้เกรดผู้เรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ ศธ. ต้องการกระตุ้นให้สถานศึกษาและครู ติดตามเด็กอย่างใกล้ชิด สามารถใช้เครื่องมือ วิธีการสอน สื่อการสอน การเก็บคะแนนที่มีความหลากหลายและทันสมัย เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. ซึ่งหากสถานศึกษาทุกแห่งสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ไม่มีผู้เรียนที่สอบตก หรือติด ร มส. ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น สร้างบุคลากรที่มีเข้ามาพัฒนาประเทศได้ต่อไป” โฆษก ศธ. กล่าว