“องค์กรครู” เสนอ กมธ.การศึกษา ดัน 9 ข้อ บรรจุใน “ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ”
ธนชน มุทาพร แกนนำ “องค์กรครู” ชง กมธ.การศึกษา เสนอ 9 ข้อ บรรจุใน “ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” หวังปลดล็อคการจัดการศึกษา ดันโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ยกเลิกสายบังคับบัญชาแบบ Single Command
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 คณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร(กมธ.การศึกษา) ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.) และองค์กรครูทั่วประเทศจัดกิจกรรมสัปดาห์วันครู ประจำปี 2567 และเวทีเสวนา 99 ขุนพลปฏิวัติการศึกษาไทย ณ.ห้องประชุม 607 อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดการเสนาเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมี กมธ.การศึกษา ผู้นำองค์กรครูทั่วประเทศ จำนวน 120 คน
เวทีเสวนา เกี่ยวกับ “ร่าง.พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” เปิดโอกาสให้ นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทน “องค์กรครู” ทั่วประเทศ เป็นผู้เสนอคนแรก ซึ่งสรุปประเด็นได้ดังนี้
1.นิยาม ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องครอบคลุม ชัดเจน
2. ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้ปลดล็อคการจัดการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการ และความถนัดของผู้เรียน หลักสูตรต้องเป็นรูปปิรามิด ไม่ใช่เอายอดปิรามิด เป็นฐานเหมือนทุกวันนี้
3.ต้องไม่ผลักภาระการศึกษาให้กับผู้ปกครอง ที่ พยายามผลักดันให้ผู้เรียนเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนเพิ่มขึ้นโดยกฎหมาย
4.ต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีต่อความมั่นคงของชาติเข้ามาจัดการศึกษา โดยการจัดการศึกษาของบุคคล องค์กร สถานประกอบการต้องได้รับอนุญาตก่อนการจัดการศึกษา
5.ต้องลดความเหลื่อมล้ำของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องใช้บัญชีเงินเดือนเดียวกัน มีโอกาสความก้าวหน้าไม่แตกต่างกัน
6.ต้องไม่ด้อยค่าวิชาชีพครู ให้ไปแก้ไข มาตรา 41 ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ( ร่างที่ รัฐบาลหยิบมาปรับปรุง) ทุกตำแหน่ง จะต้องได้รับเงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และเงินค่าตอบแทน
7.ให้มีองค์คณะบุคคลทุกระดับ โดยให้มีผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษามีส่วนร่วม
8.กระจายอำนาจให้สถานศึกษา เป็นโรงเรียนนิติบุคคลหรือกลุ่มโรงเรียนนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่ให้คำนึงถึงการนำสู่การปฏิบัติจริงอย่างไร จึงจะให้เกิดระบบธรรมาภิบาลอย่างมีประสิทธิภาพ
9.โครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่เป็น Single Command เพราะย้อนแย้งกับการกระจายอำนาจให้กับสถานศึกษา
ทั้งนี้ นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ตัวแทน “องค์กรครู” เปิดเผย กับ “คมชัดลึก” ว่า องค์กรครูเรียกร้องขอให้รัฐบาลเปิดกว้างรับฟังเสียงครู ถึงแนวทางการยก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ซึ่งในส่วนขององค์ครู ได้ระดมพลังครูทั่วประเทศ จัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และทราบมาว่า รัฐบาลจะนำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ตกไปกลับมาให้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง ส่วนพรรคการเมือง ทราบว่าพรรคก้าวไกล จัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เช่นกัน
“องค์กรครู เรียกร้องรัฐบาล หลอมรวมร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นร่างขององค์กรครู หลอมรวมกับร่างของรัฐบาล และพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อจะผลักดันให้กฏหมายการศึกษา มีบทสรุปที่ตรงกัน และไม่เกิดความแตกแยก หรือมีเสียงคัดค้าน เช่นในอดีตที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องตกไป” นายธนชน กล่าวสรุป