ข่าว

คุรุสภา ตั้งกรรมการสอบ “ครู” ลงโทษนักเรียนด้วยการ ใช้เข็มทิ่มปาก แล้ว

คุรุสภา ตั้งกรรมการสอบ “ครู” ลงโทษนักเรียนด้วยการ ใช้เข็มทิ่มปาก แล้ว

27 ม.ค. 2567

เลขาธิการคุรุสภา เผย ตั้งกรรมการสอบ “ครู” ลงโทษนักเรียนด้วยการ ใช้เข็มทิ่มปาก ของสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่จ.สมุทรปราการ แล้ว เบื้องต้น ส่อผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพครู ลงโทษศิษย์อย่างไม่เหมาะสม เตือนอย่าใช้ความรุนแรงกับเด็ก ทั้งกาย-วาจา

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ กรณีผู้ประกอบวิชาชีพครู ของสถานศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ลงโทษนักเรียนด้วยการใช้เข็มทิ่มปากเด็กนักเรียน นั้น

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพครูที่กระทำการตามที่ปรากฎเป็นข่าวดังกล่าว โดยประสานความร่วมมือกับสถานศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา และได้ตรวจสอบข้อมูลการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว พบว่า ครูที่เป็นข่าวดังกล่าว เป็นผู้มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครู และได้รับเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจะขอข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณา การประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพตามอำนาจหน้าที่ต่อไปโดยเร็ว

 

เลขาธิการคุรุสภา ระบุว่า กรณีดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ ข้อ 12 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ 

 

 

ประกอบกับ ข้อ ข้อ 7 (ข) (1) ของข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2550 ผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องไม่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การลงโทษศิษย์อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเข้าสู่กระบวนการโดยเร็วที่สุด

 

 

“จึงขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู ได้ตระหนักถึงการดำเนินการใด ๆ กับศิษย์หรือผู้รับบริการ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับศิษย์หรือผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงโทษเพื่อปรับพฤติกรรมของศิษย์ในทาง ที่สร้างสรรค์ และไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางกาย และวาจา ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงจิตใจของศิษย์และผู้รับบริการ” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ถึงพฤติกรรมการลงโทษที่ไม่เหมาะสมของครูรายนี้ โดยส่วนมากมองว่าเป็นจะเกิดผลร้ายต่อเด็กนักเรียนที่ถูกกระทำ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ครู น่าจะมีวิธีการลงโทษนักเรียนที่่สร้างสรรค์กว่านี้ และไม่ควรเหมาเข่งลงโทษนักเรียนถึง  36 คนอย่างไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ฯลฯ