'O-NET' ม.6 เสมา 1 พร้อม เลขาฯ กพฐ. ตรวจเยี่ยมสนามสอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ 'O-NET' ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สนามสอบโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 และคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ Ordinary National Educational Test: 'O-NET' ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ณ สนามสอบโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบ 153 คน เป็นการทดสอบด้วยระบบการทดสอบดิจิทัล (Digital Testing)
โดยมี นายกิตติศักดิ์ สมพล ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งมีการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับศูนย์สอบ 62 แห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบข้อมูลและให้แนวทางการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การทดสอบ 'O-NET' ปีการศึกษา 2566 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดขึ้นในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ และ วันที่ 2-3 มีนาคม 2567 มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 แห่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์สอบ ในปีนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบทั้งหมด 211,243 คน โดยแบ่งเป็น
1. การทดสอบด้วยระบบการทดสอบดิจิทัล (Digital Testing) ผู้มีสิทธิ์สอบ 207,456 คน มีสนามสอบ 1,957 สนาม ห้องสอบ 7,633 ห้อง แบ่งการทดสอบเป็น 4 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้มีสิทธิ์สอบ 51,963 คน รอบที่ 2 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้มีสิทธิ์สอบ 52,290 คน รอบที่ 3 วันที่ 2 มีนาคม 2567 ผู้มีสิทธิ์สอบ 51,843 คน และรอบที่ 4 วันที่ 3 มีนาคม 2567 ผู้มีสิทธิ์สอบ 51,360 คน
2. การทดสอบด้วยรูปแบบกระดาษ (Paper Pencil) ผู้มีสิทธิ์สอบ 3,787 คน มีสนามสอบ 3 สนามสอบ (จังหวัดปัตตานี) เนื่องจากสนามสอบไม่มีความพร้อมด้านคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต สำหรับวิชาที่สอบ มีจำนวน 5 วิชา ประกอบด้วย 1) ภาษาไทย จำนวน 60 ข้อ 2) สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จำนวน 60 ข้อ 3) ภาษาอังกฤษ จำนวน 60 ข้อ 4) คณิตศาสตร์ จำนวน 25 ข้อ และ 5) วิทยาศาสตร์ จำนวน 37 ข้อ
ทั้งนี้ สทศ. ได้ดำเนินการตามพันธกิจซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการและนโยบาย "เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)" ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. โดยได้พัฒนาระบบการตรวจข้อสอบอัตนัยในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาในการดำเนินการตรวจ ประหยัดค่าใช้จ่าย การตรวจข้อสอบมีประสิทธิภาพ ผลคะแนนที่ได้มีความถูกต้องแม่นยำ ครูผู้ตรวจสามารถทำงานได้ทุกที่ภายใต้มาตรฐานการทดสอบ นอกจากนี้ สทศ. ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลการทดสอบ 'O-NET' ไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยจัดการอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ในรูปแบบ Online และ Onsite เน้นให้ความรู้ พาคิด พาทำการ วิเคราะห์ผังการสร้างแบบทดสอบ การวิเคราะห์ข้อสอบ การสร้างข้อสอบที่มีคุณภาพ และการนำข้อมูลสารสนเทศจากใบรายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพการศึกษา
ทั้งนี้ มีกำหนดการประกาศผลสอบ 'O-NET' ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 29 มีนาคม 2567 โดยได้จัดทำรายงานผลการทดสอบ O-NET และข้อมูลสารสนเทศแบบรายบุคคล ระดับโรงเรียน ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค ระดับสังกัด และระดับประเทศ ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.niets.or.th