ข่าว

ครม.เคาะงบ 'อาหารกลางวัน' 2.9 พันล้านบาท แก่เด็กขยายโอกาสกว่า 5 แสนคน

ครม.เคาะงบ 'อาหารกลางวัน' 2.9 พันล้านบาท แก่เด็กขยายโอกาสกว่า 5 แสนคน

27 มี.ค. 2567

เพิ่มพูน เผย ครม.ได้เห็นชอบงบ 'อาหารกลางวัน' 2.9 พันล้านบาท แก่เด็กขยายโอกาสกว่า 5 แสนคน พร้อมอนุมัติงบจ้างนักการภารโรงลดภาระครู ตั้งบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแห่งที่ 20 และอนุมัติขยายกรอบโครงการโอดอส รุ่น 4

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณและโครงการตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอในหลายโครงการ ได้แก่ 

- อนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่า 'อาหารกลางวัน' ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา  โดยศธ. เสนอขออนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่า 'อาหารกลางวัน' ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร 

การประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567

- งบประมาณปี 2568 สำหรับนักเรียนกว่า 575,938 คน กว่า 2.9 พันล้านบาท จัดสรรงบประมาณตามโครงสร้างอัตราตามขนาดโรงเรียน แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 

  1. จำนวนนักเรียน 1 - 40 คน 36 บาท/คน/วัน 
  2. จำนวนนักเรียน 41 – 100 คน 27 บาท/คน/วัน 
  3. จำนวนนักเรียน 101 – 120 คน 24 บาท/คน/วัน 
  4. จำนวนนักเรียน 121 คนขึ้นไป จำนวน 22 บาท/คน/วัน 

- อนุมัติงบประมาณสำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน โดย ในปี 2567 ศธ. ได้ทำการของบประมาณเพิ่มเติมไปที่สภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงได้ทำการของบประมาณเพิ่มเติมไปที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อทำเรื่องของบกลางดังกล่าวแก่ ครม. อีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่เปิดภาคการศึกษาในเดือน พฤษภาคม - กันยายน 2567 โดยรวมเป็นงบประมาณกว่า 639,450,000 บาท เพื่อครอบคลุมโรงเรียนที่ขาดแคลนนักการภารโรงกว่า 14,210 อัตรางบประมาณปี 2568 ในลักษณะผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี พ.ศ. 2568-2570 รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท

การประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567

นอกจากนี้ ศธ. ได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรง โดยการจ้างนักการภารโรงดังกล่าว จะเป็นการลดภาระของครูผู้สอน ทำให้ครูจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดลอมที่ถูกสุขลักษะ 

- การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ โดยจะเป็นจังหวัดที่ 20 ซึ่งถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง โดยอยู่ในความดูแลของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โอกาสของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งผลให้สถานศึกษานำร่องจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ บริหารจัดการการศึกษาได้อย่างอิสระ ยืดหยุ่น คล่องตัว มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ สามารถปรับลดและยกเลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครู ด้วยกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 

- ขออนุมัติขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2569 โดยขอผูกพันงบประมาณข้ามปีสำหรับการดำเนินโครงการฯ กรอบวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 5.51 ล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะเป็นผู้ขอตั้งงบประมาณเป็นรายปีตามขั้นตอนวิธีการงบประมาณในภาพรวม เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินโครงการฯ และไม่กระทบต่อการศึกษาของผู้รับทุนตามสิทธิที่ได้รับ

การประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567

และในโอกาสวันครบรอบ 132 ปี กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดกิจกรรมบริจาคโลหิตเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในวันที่ 1 เมษายน และ 28 เมษายน 2567 

นอกจากนี้ได้ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานการศึกษา PISA โดยขณะนี้ได้มีนักเรียนที่สนใจเข้าทดสอบ ข้อสอบตามแนวทาง PISA กว่า 4 หมื่นคน และอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขระบบเซิร์ฟเวอร์ที่แออัด เพื่อสนับสนุนการทดสอบ PISA อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น