อ.อ๊อด ออกโรง ยื่นสอบ สว. ใช้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ได้มาถูกต้องหรือไม่
อ.อ๊อด ยื่นหนังสือถึง รมว.อุดมศึกษา ให้ตรวจสอบ สว. ที่ใช้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ได้มาตามขั้นตอนอย่างถูกต้องหรือไม่
15 ก.ค. 2567 รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เพื่อขอให้ ตรวจสอบ เนื่องจากมีบุคคล ใช้ตำแหน่งทางวิชาการ คือ ศาสตราจารย์ นำหน้าชื่อเพื่อสมัครเข้ารับการสรรหาในตำแหน่ง สว. ทำให้สังคมสับสนว่า เป็นการได้ตำแหน่งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จนนำไปสู่การ วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง
อ.อ๊อด ระบุว่า ตำแหน่งระดับศาสตราจารย์ ในประเทศไทยนั้น ต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย ก่อนนำความขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ซึ่งทางกระทรวง อว. จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง
อ.อ๊อด กล่าวต่อว่า ที่มาร้องเรียนให้ตรวจสอบ เพราะหน่วยงานเดิม จนมาถึงเป็นกระทรวง อว. ปราบเรื่องนี้มาโดยตลอด ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า California University FCE ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เป็นเพียงแค่บริษัทเทียบ เพราะการใช้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ว่าที่รองศาสตราจารย์ ใช้ที่ไหนก็ได้ แต่หากจะใช้ในราชอาณาจักรไทยและในระบบราชการ ต้องมีการผ่านกระทรวง อว. รวมถึงการโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจาฯ ก่อน ถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจาก สว.ท่านนี้ เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่จะออกกฎหมายมาใช้กับประชาชน
โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา สว. ผู้ที่จะเข้าไปเป็นในกระบวนการเสาหลักของประเทศ มีปัญหาแน่นอน และกลุ่มผู้ที่แถลงข่าวเพื่อรับรองในสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา พร้อมอ้างอิงสำนักงาน ก.พ. และโชว์เอกสาร และประกาศจะฟ้องคนนั้นคนนี้ คงต้องรับตรงนี้ไปว่า "นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่สาธารณะโดยทำให้ประชาชนสับสน"
ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนหลายปีกว่าจะได้มา ส่วนกระบวนการสรรการ สว. ที่ สว.ท่านหนึ่งได้คะแนนสูงสุด ตนไม่อาจก้าวล่วง แต่รับทราบว่ามีกลุ่มคนที่เป็นผูัสมัคร จะดำเนินคดีเรื่องนี้ด้วย
ส่วนเอกสารที่นำมาโชว์ในวันแถลงข่าว อ.อ๊อด ระบุว่า เอกสารที่ได้เป็นเอกสารเทียบ ชื่อและหน่วยงานบริษัท จริงๆคือ California University FCE คือ การประเมินเครดิตของชาวต่างชาติ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็นบริษัท
แต่เท่าที่ทราบจากข้อมูล คือ มีการขอให้ลบคำว่า University ออก แต่เขาไม่ได้ดำเนินการ เพราะฉะนั้นที่แถลงในวันศุกร์(12ก.ค.67)ที่ผ่านมา เป็นการนำเอกสารมาจริง แต่เป็นของบริษัทประเมินมาโชว์ อ้างว่าเป็นวุฒิการศึกษา ซึ่งตรงนี้เป็นวุฒิปลอม
อ.อ๊อด ยอมรับว่า มีการใช้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ จำนวนมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบราชการแล้วจะต้องนำตำแหน่งดังกล่าวออก ใช้เพียง นาย/นาง/นางสาว แต่ในกรณีของ สว. คนนี้ เข้ามาในระบบราชการแล้ว แต่ยังใช้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ซึ่งตรงนี้ทำให้ประชาชนคนไทยเชื่อว่า มีการโปรดเกล้าฯ ได้รับการรับรองจากสำนักปลัดกระทรวง อว. นี่คือสาเหตุที่ต้องมาที่ กระทรวง อว.
ส่วนที่อ้างใบปริญญาว่า มีการเช็คอินเรียนที่ California State University นั้น กระทบกับ CU System เพราะ California มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 10 วิทยาเขต ในใบอ้างว่า มีการไปเรียนที่นี่ ซึ่งศิษย์เก่ามองว่า ทำให้เกิดความเสื่อมเสียไปสู่ระบบ California State University เนื่องจาก California University FCE ไม่มีอยู่ในสารบบของมหาวิทยาลัย
รวมถึงให้ไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าวมีที่รัฐมนตรีหลายท่านปรากฏเป็นศิษย์เก่า อ้างว่ารัฐสภาไทยรับรอง สามารถใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ โกหกทุกคนว่าเป็นศาสตราจารย์ โดยไม่ต้องให้ กระทรวง อว. รับรอง แบบนี้มันเป็นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่างงมาก
ส่วนความสามารถด้านภาษาอังกฤษของ สว. ท่านนี้ ตนไม่อยากพูดถึง เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายท่านที่จบต่างประเทศ หรือที่จบในปริญญาเอก บางคนก็ไม่ได้ฝึกฝน ก็มี ติดติดขัดขัดบ้าง อยากให้สังคมให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม อ.อ๊อด เตรียมที่จะดำเนินคดีกับทนายชื่อดัง ภายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับความผิดเรื่องมรรยาททนาย เพราะมีการยุยงให้หลายฝ่ายมาขัดแย้งกัน มันผิดมรรยาททนาย ฝากไปยังสภาทนายความให้ตรวจสอบ เพราะทนายคนนี้โดนร้องเรียนไปหลายเรื่อง ฝากทนายคนนี้ 4 คำ คือ จะ ริ ยะ ทำ
ด้าน นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ยืนยัน ว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ ถ้าได้มาด้วยความถูกต้อง ก็มีสิทธิที่จะนำไปอวดอ้างได้ บอกกล่าวได้ ว่าเป็นศาสตราจารย์ แต่ถ้าจะเข้าสู่กระบวนการการศึกษา คนๆนั้นต้องเข้ามาทำการเทียบวุฒิที่ กระทรวง อว.
โดยหลังจากรับเรื่องทางกระทรวงจะดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ มีหน่วยงานเฉพาะในการตรวจสอบอยู่ จะเรียก สว. รายนี้มาสอบปากคำหรือไม่ ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดเสียก่อน ซึ่งการมอบตำแหน่งศาสตราจารย์ของแต่ละประเทศมันแตกต่างกัน ทางวิชาการก็คือ คนที่ไปรับตำแหน่งจากต่างประเทศมา ก็เข้ามาขอเทียบตำแหน่งกับกระทรวง อว. ว่าตรงกับตำแหน่งอะไร แล้วเอาตำแหน่งนี้ไปใช้ในระบบราชการ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย
ขณะที่ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า อยากให้เกิดความชัดเจน เป็นที่ทราบดีว่า บุคคลจะเป็น ศาตราจารย์ ได้ ต้องเป็นอาจารย์ ซึ่งจะต้องมีการไล่ลำดับ มีพัฒนาการ จากอาจารย์เป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ และสูงสุดศาสตราจารย์ระดับ 11 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ใช้ระบบนี้ใช้กันทั่วโลก
มองว่า การใช้คำว่า ศาสตราจารย์ แล้ว จะต้องมีหลักฐานว่า มีการเรียนการสอนจริง ไม่ใช่กระโดดจากอาจารย์ธรรมดามาเป็น ศาสตราจารย์ เลย โดยที่ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ยกเว้นท่านจะมีผลงานเชิงประจักษ์จริงๆระดับรางวัลโนเบล แต่ไม่ใช่เรื่องปกติและไม่เกิดขึ้นบ่อย
อย่างตนทำงานและทำวิจัย ใช้ระยะเวลา 7 ปี กว่าจะเข้าสู่ ศาสตราจารย์ ยอมรับว่าเร็วและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็มีบ้างที่ใช้เวลาเร็วกว่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 15 ปี และเป็น ศาสตราจารย์ จะต้องมีผลงานตีพิมพ์วิชาการกับนานาชาติเป็นที่ยอมรับ วารสารจะต้องมีคนอ้างอิงจำนวนมาก มีตำรา หนังสือ ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้ประเมินและให้คะแนนมี 4 ระดับจะต้องได้ระดับ A+
อย่างไรก็ตาม คนที่เป็น ศาสตราจารย์ ที่ได้จากต่างประเทศ แต่พอมาใช้ในระบบราชการไทย ยังไงก็ต้องมีการเข้ามาประเมินอีกรอบ เพื่อโปรดเกล้าฯ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ สว.ลักษณะนี้ ทำให้สังคมเกิดความสับสน อาจารย์หลายท่านเดือดร้อน รวมทั้งตัวเองด้วย จึงมาขอความกรุณาให้ทาง กระทรวง อว. ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงให้ความชัดเจน
ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช ยอมรับว่า กรณี สว.ท่านนี้ สร้างความบั่นทอนขวัญและกำลังใจของอาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมด กว่าจะได้ ผศ. รศ. เขาต้องมีขั้นตอน ที่มาที่ไปในการตรวจสอบได้ อยากจะขอให้ กระทรวง อว. แสวงหาความชัดเจนตรงนี้
ด้าน อ.อ๊อด ยอมรับทิ้งท้ายเช่นกัน กรณีนี้สร้างความบั่นทอนให้กับศิษย์เก่า CU System ที่อยู่ california และ California State University แต่ในกรณี สว.ท่านนี้ อ้างไปนั่งเรียน ซึ่งไม่จริง เนื่องจากเจ้าตัวเคยออกรายการ และบอกว่าไม่เคยไปนั่งเรียนตรงนี้ ทำให้คนที่จบระบบ CU System รู้สึกอับอาย