(คลิป)อหังการ หนังน้องเดียว ตะลุงหลงโรง
อหังการ หนังน้องเดียว ตะลุงหลงโรง คอลัมน์... คมเคียวคมปากกา โดย... บรรณวัชร
ได้ฟังถ้อยแถลงของ “หนังน้องเดียว” ผ่านแฟนเพจ “น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” แจงสี่เบี้ยเรื่อง “ด่าพระ” แล้วรู้สึกเป็นห่วงนายหนังตะลุงคนนี้ และมีข้อสังเกตว่า หนังน้องเดียวมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก
อันเนื่องจาก “หนังน้องเดียว” หรือ บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง หนังตะลุงตาบอดยอดนิยมของภาคใต้ ได้ไปแสดงในงานแก้บนที่วัดเนินพิจิตร ต.เนินพิจิตร อ.นาหม่อม จ.สงขลา เมื่อคืนวันที่ 18 ตุลาคม 2562 โดยก่อนการแสดงมีแม่ค้าที่มากับคาราวานหนังน้องเดียวไปแจ้งว่ามีพระรูปหนึ่งในวัดพูดว่า “ถ้าเป็นผม ผมไม่รับหนังน้องเดียวมาเล่น” เพราะค่าจ้างคืนละ 80,000 แพงมาก และเล่นอยู่คนเดียว
ในการแสดงหนังตะลุงคืนนั้นหนังน้องเดียวได้นำเอาเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพระมาเป็นประเด็น เปิดฉากด่าพระในวัดเนินพิจิตร เล่นหนังไปด่าพระไปจนเลิกแสดง
หลังจากเลิกการแสดงหนังน้องเดียวได้อัดคลิปเล่าเรื่องที่ถูกพระวิจารณ์ว่าค่าจ้างแพง เหตุที่ไม่พอใจพระรูปนั้นเพราะเงินที่จ่ายก็ไม่ใช่ของพระ พระมายุ่งอะไรด้วย
หนังน้องเดียวยังอัดคลิปซ้ำอีกตอนหนึ่งว่า ครูหมอของตนเองศักดิ์สิทธิ์ ถ้าครูหมอไม่แน่จริงคงจะไม่มีเจ้าภาพว่าจ้างจนคิวเต็มถึงปี 2566 แล้ว
ทั้งสองคลิปอยู่ในแฟนเพจ “น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” ได้มีการแชร์ไปเยอะมากจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ โดยเอฟซีหนังน้องเดียวต่างเห็นดีเห็นงามเพราะด่าพระแค่รูปเดียว
ตรงข้ามคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เอฟซีเห็นว่าหนังน้องเดียวกระทำการไม่เหมาะสม โดยนำเรื่องเพียงเล็กน้อย เรื่องพระรูปหนึ่งวิจารณ์ว่าค่าจ้างแพง กลับถือโทษโกรธเคือง ออกมาด่าพระอย่างสาดเสียเทเสีย
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ออกหนังสือเรียนไปยังเจ้าคณะทุกอำเภอโดยระบุข้อความเกี่ยวกับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของหนังตะลุงที่ชื่อ “หนังน้องเดียว” และเห็นว่าไม่ควรว่าจ้างหนังน้องเดียวมาเล่นในวัด
อย่างไรก็ตามหนังน้องเดียวดูจะไม่ใส่ใจในเสียงที่เห็นแย้ง เพราะเชื่อใน “พลังเอฟซีหนังน้องเดียว” และในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ หนังน้องเดียวได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดประดู่ ต.ป่าพยอม อ.ป่าพยอม จ.พัทลุง ยอดเงินบริจาคและจำนวนคนที่ร่วมงานบุญอาจพิสูจน์อะไรได้บางอย่าง
บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง หรือหนังน้องเดียว เป็นนักเชิดหนังตะลุงที่พิการทางสายตา เขาเริ่มฝึกการพากย์หนังตะลุงจาการฟังเทปและเลียนเสียงตัวละครต่างๆ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หลังจากนั้นน้องเดียวเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างร้องเพลงและพัฒนาเป็นการเล่นหนังตะลุงจนประสบความสำเร็จ
ความแปลกแตกต่างของหนังน้องเดียวกับนายหนังตะลุงทั่วไปคือ การแสดงหนังตะลุงของน้องเดียวจะเป็นการผสมผสานระหว่างทอล์กโชว์กับคอนเสิร์ตลูกทุ่ง เขาจึงใช้สโลแกน “ลูกทุ่งวัฒนธรรม”
“น้องเดียว” ยังมีชื่อเสียงจากเพลง “ลมหายใจปลายด้ามขวาน” ซึ่งเพลงนี้ทำให้เขากลายเป็นทูตวัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยหน่วยงานราชการ รวมถึงนักการเมืองต่างว่าจ้างเขาไปโชว์ร้องเพลงอยู่บ่อยๆ
ยุคสมัยดิจิทัลหนังน้องเดียวได้นำผลงานการแสดงคอนเสิร์ตหนังตะลุงไปเผยแพร่ทางยูทูบในช่อง “ลูกทุ่งวัฒนธรรม” ช่อง KOY Thailand Channel แอพพลิเคชั่น AIS Play และกล่อง AISPLAYBOX
ตอนแรกหนังน้องเดียวแอนตี้การนำการแสดงสดของตัวเองไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กหรือยูทูบ แต่เมื่อเข้าใจเรื่องธุรกิจดิจิทัล หนังน้องเดียวก็หารายได้จากค่ายมือถือและยูทูบ
ท่ามกลางกระแสคัฟเวอร์เพลงดัง “น้องเดียว” ยังได้นำเพลงลูกทุ่งยอดนิยมในอดีตมาคัฟเวอร์ลงยูทูบ เพื่อเรียกยอดวิวในช่องลูกทุ่งวัฒนธรรม
กรณีวิวาทะนายหนังตะลุงกับพระสอนให้รู้ว่าสื่อโซเชียลเหมือนดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษ ใช้ฟาดฟันคนอื่นก็ได้ หรืออาจกลับมาทิ่มแทงตัวเอง อยากเตือนใจหนังน้องเดียวอย่าประมาทเล่นกับไฟโซเชียล
........................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หนังน้องเดียว ท้าพระมารับเงินบริจาคแข่ง