เดือด "อัยการ" ชี้ละคร 'ให้รักพิพากษา' บิดเบือน จี้ ผู้จัดช่อง 3 แก้ไขด่วน
"อัยการ" ทั่วประเทศสุดทน ชี้ละคร 'ให้รักพิพากษา' บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำหน้าที่ และให้ประชาชนเข้าใจการทำงานผิด หากไม่เข้าใจให้มาสอบถามก่อน พร้อมส่งอีเมลไปถึงต้นสังกัด ช่อง 3 ให้มีการแก้ไขโดยด่วน
เดือด เป็นเรื่องขึ้นจนได้ สำหรับละครเรื่อง "Dare To Love ให้รักพิพากษา" ที่นำแสดงโดย "เบลล่า ราณี" และ "กองทัพ พีค" กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากอัยการระดับสูงหลายรายว่า มีการนำเสนอเนื้อหาบิดเบือน ทำให้สังคมเข้าใจผิดต่อบทบาทการทำงานของอัยการที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง
โดยกรณีนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ด้วยว่า “ให้รักพิพากษา” เป็นละครที่มีการนำเสนอที่บิดเบือนการทำงานของอัยการที่เสียหายมาก เช่น คดีไม่สำคัญมอบอัยการผู้ช่วยทำ หรือชวนทนายมาเป็นอัยการเพราะกำลังขาดคน หรือการทำงานโดยเลือกเอาเอกสารออกจากสำนวน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำให้สังคมเข้าใจบทบาทอัยการที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง กระทบต่อความรู้สึกของอัยการทั่วประเทศ เพราะเนื้อหามีการบิดเบือนอย่างมาก อาจทำให้ประชาชนผู้รับชม จะเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงได้แจ้งผ่านทางพิธีกรชื่อดัง "หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ประกาศข่าวช่อง 3 เพื่อประสานผู้จัดละครให้ทราบข้อเท็จจริงและหาทางแก้ไขโดยด่วน
ทั้งนี้ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการการ (ก.อ.) และอดีตอัยการสูงสุด ได้วิจารณ์การเสนอละคร ให้รักพิพากษา เช่นกันว่า ว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวกับพนักงานอัยการ ซึ่งรับไม่ได้ ที่ในบทได้ให้พนักงานอัยการไปไล่จีบผู้หญิง พร้อมเสนอให้อีกฝ่ายมาเป็นพนักงานอัยการได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นทำไม่ได้ ตามระเบียบกฎหมาย นอกจากนี้ ตอนออกศาลขึ้นบัลลังก์ ก็มีผู้พิพากษาขึ้นนั่งบนบัลลังก์ 4 คน ทั้งที่จริงเวลาศาลขึ้นบัลลังก์จะมีแค่ 3 คน รวมทั้งให้ตรวจสอบการใส่ชุดครุยผู้พิพากษาด้วย ว่าผิด พ.ร.บ.ชุดครุยหรือไม่
“บอกตรงๆ ว่านำเสนอแบบนี้รับไม่ได้ อยากให้ผู้จัดละครดำเนินการแก้ไขเนื้อหาโดยทันที ถ้าคุณไม่เข้าใจก็ควรมาปรึกษาหน่วยงานสำนักงานอัยการสูงสุด”
ด้าน นายอดิศร ไชยคุปต์ รองอธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ส่งอีเมล์ไปยังผู้จัดละครเรื่องดังกล่าว ด้วย
เรียนผู้จัดละครเรื่อง “ให้รักพิพากษา” และผู้บริหารช่อง 3 ด้วยบทละครผู้เล่นบทพนักงานอัยการมีการส่อถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ไม่ชอบขัดต่อความเป็นจริง และไม่ตรงต่อหลักการดำเนินคดีของพนักงานอัยการที่ต้องมุ่งค้นหาความจริงให้ปรากฏในศาลเพื่อความยุติธรรม พนักงานอัยการไม่ใช่คู่แพ้ชนะกับผู้ต้องหาและจำเลย และการเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานอัยการต้องมีการสอบเข้าโดยมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการสอบเข้าเป็นผู้พิพากษา อันเป็นบทบัญญัติตามกฎหมาย
บทละครดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ในวิชาชีพพนักงานอัยการก่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงานอัยการและองค์กรอัยการ และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นการไม่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อสังคม
ทั้งนี้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวจากทางช่อง 3 และผู้จัดละครเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด