นักวิจัยเผยคลิปแมลงทะเลยักษ์รุมทึ้งซากแอลลิเกเตอร์
ใครบ้างจะรู้ว่าใต้พื้นทะเลลึกมีแมลงยักษ์ตัวชมพูคล้ายแมลงสาบอาศัยอยู่ และกรูไปกินซากแอลลิเกเตอร์ที่นักวิจัยทดลองหย่อนลงไป กินจนอ้วนพีเคลื่อนที่ไม่ไหว
พื้นผิวโลกส่วนใหญ่อยู่ใต้มหาสมุทรที่ลึกมากจนแสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง พื้นที่เหล่านี้ัทั้งมืดและเย็น แต่ก็เต็มไปด้วยสรรพชีวิตอาศัยอยู่ นักวิจัยมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา มารีน คอนโซเทียม เกริ่นนำในคลิปวิดีโอ ที่แสดงผลการทดลองหย่อนซากจระเข้ตีนเป็ด หรือ แอลลิเกเตอร์ 3 ซาก ลงไปในอ่าวเม็กซิโก ห่างชายฝั่งราว 16 ก.ม. และลึกกว่า 1.6 ก.ม. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเมื่อหย่อนสัตว์น้ำลงไปที่ก้นมหาสมุทรแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
นักวิจัยไม่ต้องรอนาน ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น ก็มี ไอโซพอด สัตว์จำพวกครัสเตเชียน (สัตว์จำพวกกุ้ง ปู ) เข้ามารุมกัดกินซาก
การทดลองนี้ช่วยให้นักวิจัยส่องอดีต ไขปริศนายุคก่อนประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ทะเลยุคจูราสสิกเมื่อตกลงไปก้นทะเลเมื่อหลายล้านปีก่อน และใช้แอลลิเกเตอร์ เป็นเหมือนสแตนด์อินในยุคปัจจุบันของ อิกทิซอรัส สัตว์เลื้อยคลายทางทะเลผู้ครองผืนน้ำในยุคไดโนเสาร์
นอกจากนี้ นักวิจัยยังต้องการทำความเข้าใจสายใยอาหารใต้ทะเลลึก เมื่อสัตว์บนบก อย่างแอลลิเกเตอร์ ถูกซัดลงทะเล ที่เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นเป็นประจำจากเกิดพายุรุนแรงอย่างเฮอร์ริเคน กลายเป็นอาหารที่เรียกว่า food fall ว่าจะกระทบกับเครือข่ายอาหารเหล่านี้อย่างไร
ที่น่าประหลาดใจก็คืออัตราความเร็วที่ไอโซพอด ที่นักวิจัยเปรียบว่าเป็นแร้งใต้ทะเลลึก หาพบและรุมกัดกินซากแอลลิเกเตอร์เร็วกว่าที่คาด เดิมคาดว่า น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน แต่กลับผ่านไปแค่ 18 ชม.เท่านั้น
ไอโซพอดจัดการกับอาหารมื้อนี้ในเวลาไม่นาน ฉีกทึ้งหนังแอลลิเกเตอร์ที่หนาราวกับเกราะโดยไม่มีปัญหาใดๆ และกินมากจนแทบเคลื่อนที่ไม่ไหว
นักวิจัยมีแผนจะกลับไปยังจุดทดลองอีกครั้งในเวลาไม่กี่เดือน เพื่อดูว่าจะมีสัตว์ชนิดใหม่มาร่วมกินซากแอลลิเกเตอร์หรือไม่