ฮ่องกงงัดกฎหมายฉุกเฉินครั้งแรกใน 50 ปีแบนหน้ากากประท้วง
มีผลเที่ยงคืน ( 5 ต.ค.) ผู้ประท้วงฮ่องกงชุมนุมที่สาธารณะใส่หน้ากากเจอปรับ-ติดคุก
แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าเขตปกปครองพิเศษฮ่องกง ตัดสินใจออกมาตรการห้ามผู้ชุมนุมประท้วง ใส่หน้ากากปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะ มีผลวันเสาร์นี้ ( 5 ต.ค.) โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายตกทอดจากยุคอาณานิคม ให้อำนาจรัฐบาลออกมาตรการใดก็ได้ที่จำเป็นเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ไม่เคยนำมาใช้ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
“ความรุนแรงกำลังทำลายฮ่องกง เราต้องรักษาฮ่องกงในวันนี้และในอนาคต ในฐานะรัฐบาล เรามีหน้าที่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อยุติความรุนแรงลุกลามบานปลายและฟื้นฟูความสงบในสังคม”
ผู้ว่าฮ่องกง ให้เหตุผลว่า การห้ามสวมใส่หน้ากาก จะส่งผลในเชิงป้องปราม เพื่อสกัดกั้นความรุนแรง และช่วยตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยได้ หลังจากหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงใช้ความรุนแรงมากขึ้นทุกที แต่ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาใหม่ ไม่ได้หมายความว่าฮ่องกงอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรการห้ามสวมหน้ากาก จะถุกลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับ 2.5 หมื่นดอลลารฮ่องกง ( ราว 9.5 หมื่นบาท ) แต่มีข้อยกเว้นให้สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เหตุผลทางศาสนา หรือสุขภาพ
หลายฝ่ายจับตาว่ามาตรการห้ามสวมหน้ากาก จะกระตุ้นให้เกิดการปะทะรุนแรงในสุดสัปดาห์นี้หรือไม่ เพราะเพียงแค่มีข่าวแว่วว่าทางการเตรียมใช้มาตรการปกปิดใบหน้า ผู้ประท้วงก็ออกมาชุมนุมต่อต้านแล้ว
หน้ากากปิดหน้า กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านขัดขืนของผู้ประท้วง เพื่อป้องกันการถูกระบุตัวตน หรือการถูกแก้แค้นในภายหลัง เช่น กรณีจีนกดดันภาคธุรกิจ อย่างคาเธย์ แปซิฟิก ให้ปลดพนักงานหากรู้ว่าไปร่วมประท้วง
กฎหมายว่าด้วยอำนาจออกมาตรการฉุกเฉิน ผ่านออกมาบังคับใช้สมัยฮ่องกงอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษในปี 2465 ให้อำนาจผู้บริหารออกกฎหมายหรือมาตราการพิเศษได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้อีกเลยนับจากเคยใช้ยุติเหตุจลาจลรุนแรงในปี 2510