ข้อมูลจีนเผยผู้ติดเชื้อถึง 1 ใน 3 อาจเป็น "พาหะเงียบ"
สื่อฮ่องกงอ้างข้อมูลจากจีน เผยผู้ถูกตรวจพบไวรัสเป็นบวกแต่แสดงอาการช้าหรือไม่มีอาการ อาจมีจำนวนสูงถึง 1 ใน 3
เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานอ้างข้อมูลจัดชั้นความลับของทางการจีน ที่พบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จำนวน 4.3 หมื่นคนถึงสิ้นเดือนก.พ. ไม่ได้แสดงอาการทันที พวกเขาได้รับคำสั่งให้กักตัวดูอาการ แต่ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขติดเชื้อยืนยันอย่างเป็นทางการ ซึ่งอยู่ที่ 8 หมื่นในขณะนั้น
ปกติแล้ว ผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการใน 5 วัน แต่ระยะฟักตัวอาจนานถึง 3 สัปดาห์ในบางกรณีแต่พบได้น้อย
นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ข้อสรุปว่าการแพร่เชื้อแบบไม่มีอาการ มีบทบาทแค่ไหนต่อการระบาด ส่วนหนึ่งเพราะหลายประเทศเก็บสถิติเคสยืนยันแตกต่างกัน องค์การอนามัยโลกจัดหมวดผู้ถูกตรวจพบไวรัสเป็นบวกทั้งหมด คือเคสยืนยัน ไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ แต่ทางการจีนเปลี่ยนแนวทางเมื่อ 7 ก.พ. นับเฉพาะผู้ป่วยมีอาการเป็น เคสยืนยัน
สหรัฐ อังกฤษ และอิตาลี ไม่ตรวจคนไม่มีอาการเลย เว้นแต่บุคลากรการแพทย์ที่สัมผัสโรคนานๆ
แนวทางของเกาหลีใต้และจีนที่ลุยตรวจทุกคนที่มี close contact หรือติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดสองประเทศนี้จึงควบคุมโรคได้เร็ว ขณะประเทศยุโรปส่วนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา ที่ตรวจเฉพาะคนมีอาการ จำนวนติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลศึกษาหลายชิ้นเริ่มมีคำถามว่า จริงหรือที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าการแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการเกิดขึ้นน้อยมาก
รายงานโดยคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติของ WHO สรุปหลังตรวจสอบสถานการณ์ในจีน พบการติดเชื้อจากคนไม่มีอาการราว 1-3% เท่านั้น
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นนำโดย ฮิโรชิ นิชิอุระ นักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยฮอกไกโด เขียนลงวารสารโรคติดต่อ เมื่อเดือนที่แล้วว่า จากการวิจัยของทีม พบว่า ผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่อพยพกลับจากอู่ฮั่นไม่มีอาการ อยู่ที่ 30.8% ใกล้เคียงกับข้อมูลทางการจีน
แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากเกาหลีใต้ซึ่งทำการตรวจผู้ติดต่อใกล้ชิดผู้ติดเชื้อยืนยันเกือบ 3 แสนราย ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับจีนมากที่สุด พบว่า มีเคสไม่แสดงอาการเกือบ 20% ยังคงไม่แสดงอาการใดมากนัก จนกระทั่งออกจากรพ.
จอง อึน คยอง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเกาหลีใต้ (เคซีดีซี) กล่าวว่า เกาหลีใต้พบเคสไม่แสดงอาการ ในอัตราสูงกว่าประเทศอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเพราะการขยายการตรวจ
ขณะข้อมูลจากเรือไดมอนด์ พรินเซส ที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มีการตรวจเชื้อผู้โดยสารและลูกเรือทุกราย พบ 712 รายเป็นบวก แต่ 334 รายไม่มีอาการ
รายงานของสหภาพยุโรป ระบุว่า สัดส่วนการพบเคสไม่แสดงอาการในอิตาลีอยู่ที่ 44% กระนั้น หลายพื้นที่ในอิตาลี ไม่ได้ตรวจคนไม่แสดงอาการ
กรณีฮ่องกง ผู้ติดเชื้อยืนยัน 16 จาก 138 รายถึง 14 มีนาคม เป็นเคสไม่แสดงอาการ หรือก่อนมีอาการ
สถิติทั้งหมดนี้ชี้ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโน่าสายพันธุ์ 2019 ที่ไม่แสดงอาการ มีสัดส่วนที่สูงกว่าข้อมูลที่ทางการจีนเปิดเผย โดยตามสถิติเมื่อ 11 ก.พ. จีนระบุว่ามีคนไข้ไม่แสดงอาการ 889 รายใน 44,672 ราย
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่ชัดเจนว่าคนที่ไม่แสดงอาการ มีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์ระบาด แต่ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในภาพรวม กระนั้น นักวิทยาศาสตร์กำลังตั้งคำถามว่า การแพร่เชื้อจากคนไม่แสดงอาการ หรือก่อนเกิดอาการของโรค ถูกประเมินต่ำเกินไปหรือไม่
ผลศึกษาร่วมกันโดยผู้เชี่ยวชาญในจีน สหรัฐ อังกฤษและฮ่องกง พบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย คือแหล่งแพร่เชื้อ ถึง 79% ก่อนอู่ฮั่นปิดเมืองเมื่อ 23 ม.ค.
ผลศึกษาอีกชิ้นโดยนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองออสติน ประเมินจากกลุ่มตัวอย่าง 450 เคสใน 93 เมืองของจีน พบว่า ราว 10% รับเชื้อจากคนไม่มีอาการ
ด้าน ผู้เชี่ยวชาญฮ่องกงระบุว่า ผู้ป่วยไม่มีอาการบางราย มีปริมาณไวรัสไม่ต่างจากคนที่มีอาการ กระนั้น ยากจะบอกได้ว่าพวกเขาเสี่ยงแพร่เชื้อน้อยกว่าหรือไม่ถ้าไม่ได้ไอ แต่เวลาพูดก็อาจจะปล่อยละอองฝอยออกมาอยู่ดี
กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า การทำความเข้าใจเคสไม่แสดงอาการ จะช่วยปรับปรุงนโยบายสาธารณสุขและการรับมือได้