"ทรัมป์" สั่งตัดเงินอุดหนุน "อนามัยโลก" ทบทวนผลงานรับมือ "โควิด-19"
สหรัฐอเมริการะงับการระดมทุนอุดหนุนให้แก่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทบทวนการทำหน้าที่จัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโรคโควิด-19
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศต่อหน้าสื่อที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (14 เมษายน 2563) ว่า รัฐบาลของเขาระงับการระดมทุนอุดหนุนให้แก่องค์การอนามัยโลก (WHO) และทบทวนการทำหน้าที่ขององค์การฯ ในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19)
อ่านข่าว - "นายกอาเบะ" ประกาศแจก "หน้ากากผ้า" ทุกบ้านในญี่ปุ่น
การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อทรัมป์โต้แย้งปกป้องการบริหารจัดการของตนต่อการระบาดของโรคในสหรัฐอเมริกา หลังจากฝ่ายรัฐสภาวิจารณ์ถึงการมองข้ามความรุนแรงของโรคในช่วงต้นและตำหนิเรื่องการทดสอบโรคที่ล่าช้า
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 หลายวันก่อนที่สหรัฐฯ จะพบรายงานการเสียชีวิตครั้งแรกจากโรคโควิด-19 เขาเคยทวีตข้อความชื่นชมว่า “ไวรัสโคโรน่าอยู่ภายใต้การควบคุมในสหรัฐอเมริกา เราติดต่อกับทุกคนและทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค และองค์การอนามัยโลก กำลังทำงานอย่างหนักและชาญฉลาดมาก”
ลอว์เรนซ์ กอสติน (Lawrence Gostin) ผู้อำนวยการของสถาบันโอนีล สถาบันกฎหมายสุขภาพแห่งชาติและระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า การตัดเงินทุนให้แก่องค์การอนามัยโลกในช่วงวิกฤติสุขภาพระดับโลกนั้น “น่าอับอาย” และเตือนว่า จะทำให้ผลเสียย้อนกลับมาที่สหรัฐฯ เอง
“นับว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่สั้น เมื่อในขณะนี้ทั่วโลกต้องการความร่วมมือมากกว่าที่เคยมีมา” กอสติน ระบุในทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (14 เมษายน 2563)
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เผยในเจนีนาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “เราต้องหยุดฉวยโอกาสทางการเมืองในประเด็นไวรัสทั้งในระดับชาติและระดับโลก” และ “เราต้องทำงานร่วมกัน ไม่มีเวลาให้เสียเปล่าอีกแล้ว”
จากรายงานของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ เมื่อวันอังคาร ระบุว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันในสหรัฐฯ แล้วกว่า 600,000 ราย และมียอดเสียชีวิต 25,575 ราย ซึ่งทั้งสองจำนวนนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนทั่วโลกขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยเฉียด 2 ล้านราย ในขณะที่ผู้เสียชีวิตเกิน 125,000 ราย