นิวยอร์ก ขยายเคอร์ฟิว หวังคุมเหตุการณ์ประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์
นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กซิตี สหรัฐฯ ประกาศขยายเคอร์ฟิว ไปจนถึงวันอาทิตย์ เพื่อหวังควบคุมเหตุการณ์ประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์
เมื่อวันอังคาร (2 มิถุนายน 2563) บิล เดอ บลาซิโอ (Bill de Blasio) นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กซิตี สหรัฐฯ ประกาศขยายเคอร์ฟิวช่วง 20.00 - 05.00 น. ไปจนถึงวันอาทิตย์ (7 มิ.ย.) เพื่อควบคุมการก่ออาชญากรรมระหว่างการประท้วงกรณีการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ซึ่งเป็นชายผิวดำ ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน
นิวยอร์กเริ่มบังคับใช้เคอร์ฟิวในวันจันทร์ (1 มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเมืองตั้งแต่ปี 1943 โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไป แต่ยังคงเกิดการปล้นทรัพย์ในร้านค้าเขตแมนแฮตตันทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน
สำนักตำรวจนิวยอร์กซิตี (NYPD) ระบุว่า ตำรวจจับกุมประชาชนประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ กว่า 200 ราย ก่อนเริ่มบังคับใช้เคอร์ฟิวในคืนวันจันทร์ (1 มิ.ย.) และตลอดคืนนั้นตำรวจจับกุมประชาชนได้กว่า 700 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาว
NYPD ระบุว่า คืนวันจันทร์ (1 มิ.ย.) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 ราย บาดเจ็บสาหัส จากเหตุการณ์ชนแล้วหนีในเขตบร็องซ์ (Bronx) และมีเจ้าหน้าที่อีกรายถูกรถชนระหว่างเข้าขัดขวางการลักทรัพย์ในเขตแมนแฮตตัน
“มีผู้โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างโหดร้าย และนั่นเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้” เดอ บลาซิโอ กล่าวระหว่างการรายงานข่าวสั้นประจำวัน “ใครก็ตามที่โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือว่าเขาผู้นั้นโจมตีเราทุกคน”
NYPD ระบุว่า ตั้งแต่วันอังคาร (2 มิ.ย.) นิวยอร์กไม่อนุญาตให้ประชาชนสัญจรไปมาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตแมนแฮตตันระหว่างเคอร์ฟิว ยกเว้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แรงงานที่จำเป็น รถบัส และรถบรรทุกขนส่ง
แอนดรูว์ คัวโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ระบุว่า เขารู้สึก “ผิดหวังและเจ็บแค้น” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันจันทร์ (1 มิ.ย.) และกล่าวว่า การก่ออาชญากรรมเป็นผลร้ายต่อประชาชนทุกคน พร้อมวิจารณ์การเตรียมความพร้อมของเมืองนิวยอร์กเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในคืนวันจันทร์ โดยเขากล่าวว่านายกเทศมนตรีประเมินขอบเขตและระยะเวลาของสถานการณ์ประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ต่ำเกินไป
แม้ว่าสำนักตำรวจของนิวยอร์กเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 เท่า จนอยู่ที่ 8,000 คน แต่ คัวโม กล่าวว่า นิวยอร์กควรจัดกำลังคนมากกว่านั้น และระบุว่า เขาจัดเตรียมกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ไว้แล้ว แต่ เดอ บลาซิโอ ปฏิเสธการส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติ เข้าควบคุมสถานการณ์ประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ในนิวยอร์กซิตี เพราะมองว่าเป็นวิธีการรับมือที่ไม่ชาญฉลาด
โดย เดอ บลาซิโอ กล่าวว่า “การส่งกองกำลังติดอาวุธจากภายนอกเข้าไปในชุมชนไม่เคยทำให้เกิดประโยชน์ใด เราเห็นตัวอย่างประเภทนี้หลายครั้งแล้วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
ประชาชนหลายพันคนยังเข้าร่วมการประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ต่อเนื่องในวันอังคาร (2 มิ.ย.) โดยส่วนมากเป็นนักเรียนนักศึกษาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาประท้วงอย่างสันติด้วยการเดินขบวนและกู่ร้องว่า “หากไร้ซึ่งความยุติธรรม ก็ไร้ซึ่งสันติภาพ” ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเขตแมนแฮตตัน ช่วงบ่ายวันอังคาร
การประท้วงทำให้ถนนหลายสายถูกปิด และมีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือพื้นที่ซึ่งประชาชนรวมตัวกัน นิวยอร์กส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังสถานที่หลักๆ ของการประท้วง เช่น ลานหน้าสำนักงานใหญ่ของสำนักตำรวจนิวยอร์กทางตอนใต้ของเขตแมนแฮตตัน จัตุรัสยูเนียน (Union Square) และศูนย์บาร์เคลยส์ (Barclays Center) ในเขตบรุกลิน
ช่วงบ่ายวันอังคาร (2 มิ.ย.) ร้านค้าจำนวนมากในเขตแฮนแฮตตันได้นำไม้อัดมาปิดหน้าต่างและประตูทางเข้า ขณะที่มีแรงงานจำนวนหนึ่งเร่งนำไม้มาปิดประตูร้านอีกหลายแห่งเพื่อเตรียมรับมือการประท้วงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ที่อาจทวีความรุนแรงช่วงกลางคืน
สำนักงานตำรวจของนิวยอร์ก รายงานว่า ตั้งแต่เริ่มมีการประท้วงในวันพฤหัสบดี (28 พ.ค.) นิวยอร์กจับกุมประชาชนแล้วเกือบ 2,000 ราย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บกว่า 50 ราย
อ่านข่าว - ประท้วง จอร์จ ฟลอยด์ รุนแรง ทรัมป์ ขู่ส่งทหารจัดการ มีอำนาจทำได้หรือไม่
ประชาชนประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ซึ่งเป็นชายผิวดำ ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2020
CR : xinhuathai.com