ข่าว

นักวิจัยฮ่องกงพบเคสแรกของโลกที่ได้รับการยืนยันป่วยโควิด-19 ซ้ำ

นักวิจัยฮ่องกงพบเคสแรกของโลกที่ได้รับการยืนยันป่วยโควิด-19 ซ้ำ

25 ส.ค. 2563

หนุ่มฮ่องกงป่วยโควิด-19 อีกรอบ หลังหายป่วยครั้งแรกกว่า 4 เดือน พบติดเชื้อคนละสายพันธุ์ จึงยืนยันเป็นเคสแรกของโลกป่วยซ้ำ แต่ WHO เตือนอย่าเพิ่งสรุป 


นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮ่องกง พบชายวัย 33 ปี ป่วยโรคโควิด-19 สองครั้งในปีนี้ โดยการติดเชื้อรอบแรก ผู้ป่วยมีไข้ เจ็บคอ ไอและปวดศีรษะ นาน 3 วัน ผลตรวจยืนยันติดเชื้อเมื่อ 26 มีนาคม ใช้เวลารักษาตัว 14 วัน ส่วนการติดเชื้อรอบสอง เกิดขึ้นหลังผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงานไอที กลับจากสเปนผ่านทางอังกฤษ ผลตรวจเชื้อที่ด่านคัดกรองสนามบินฮ่องกง เมื่อ 15 สิงหาคม ให้ค่าเป็นบวก เขาถูกส่งเข้ารพ.อีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่มีอาการ  

ในการศึกษาเรื่องนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮ่องกงและรพ.หลายแห่งในฮ่องกง วิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บจากคนไข้ 10 วันหลังมีอาการจากติดเชื้อรอบแรก กับตัวอย่างที่เก็บจากคนไข้ 1 วันหลังเข้ารพ.จากติดเชื้อรอบสอง ผลวิเคราะห์ทางพันธุกรรมบ่งว่า การติดเชื้อรอบแรกเป็นเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ SARS-CoV-2  ใกล้เคียงกับสายพันธุ์จากสหรัฐหรืออังกฤษ ส่วนการติดเชื้อครั้งที่สอง เป็นสายพันธุ์จากสวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ 
 

ผลศึกษาที่จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Infectious Diseases ระบุว่า กรณีของหนุ่มฮ่องกงรายนี้สะท้อนว่า 1.การติดเชื้อซ้ำอาจเกิดขึ้นได้แม้เพิ่งหายป่วยจากติดเชื้อครั้งแรกไม่กี่เดือน เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อาจคงอยู่ในมนุษย์ เหมือนกับไวรัสโคโรน่าก่อโรคหวัดธรรมดา ต่อให้คนป่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือผ่านวัคซีนก็ตาม 

2.คนที่เคยติดเชื้อไวรัสใหม่นี้แล้ว ยังควรได้รับวัคซีนอยู่ดี เมื่อถึงเวลาที่มีวัคซีนใช้ ทั้งยังควรปฏิบัติตนมาตรการคุมระบาดพื้นฐาน อย่างใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่าง 

ดร.เควิด ไค หว่อง จากทีมวิจัย บอกซีเอ็นเอ็นว่า การติดเชื้อครั้งที่สองหลังป่วยครั้งแรก 4 เดือนครึ่ง บ่งว่า ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างจากติดเชื้อครั้งแรก อายุสั้น 

แม้นักวิจัยฮ่องกงระบุว่า  นี่เป็นเคสติดโควิด-19 ซ้ำครั้งแรกของโลกที่ได้รับการยืนยัน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าควรศึกษาเพิ่มเติม  โดย ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรด่วนสรุปจากผู้ป่วยเคสเดียว ปัจจุบัน โลกมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 24 ล้านราย จำเป็นต้องศึกษาประเด็นนี้กับผู้ป่วยจำนวนมากและในช่วงเวลาหนึ่ง  และจากประสบการณ์กับไวรัสโคโรน่าอื่นๆในคน หรือเมอร์ส และซาร์ส ก็เป็นที่รู้ว่าร่างกายจะมีแอนติบอดีระยะหนึ่งก่อนหายไป 

ขณะที่ ดร.พอล ออฟฟิต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัคซีน รพ.เด็กฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยฮ่องกงในผลศึกษานี้ ไม่มีอาการเมื่อติดเชื้อรอบสอง ถือเป็นสัญญาณดีว่าวัคซีนโควิด-19 น่าจะให้ผลแบบเดียวกัน กล่าวคือการติดเชื้อครั้งแรกสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองจึงช่วยป้องกันได้บ้าง