ข่าว

ผลศึกษาใหม่พบโควิด-19 อยู่รอดบนธนบัตร-จอมือถือนาน 28 วันในอากาศเย็น  

ผลศึกษาใหม่พบโควิด-19 อยู่รอดบนธนบัตร-จอมือถือนาน 28 วันในอากาศเย็น  

12 ต.ค. 2563

ผลศึกษาใหม่พบไวรัสโคโรน่าโรคโควิด-19 อยู่รอดบนพื้นผิวหลายอย่างได้นานกว่าที่คิดในสภาพอากาศเย็น  เช่น ธนบัตร จอมือถือ รอดนานเกือบเดือน 

 

ผลศึกษาโดยองค์การวิจัยอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์คอมมอนเวล์ทออสเตรเลีย (CSIRO) พบว่า ไวรัสโคโรน่าก่อโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2  มีชีวิตอยู่บนพื้นผิวเรียบได้นานกว่าพื้นผิวขรุขระหรือซับซ้อน โดยพื้นผิวกระจกอย่างจอโทรศัพท์มือถือ หรือธนบัตรกระดาษ-พลาสติก และเหล็ก ไวรัสอาจอยู่ได้นานถึง  28 วัน ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส นานกว่าการอยู่รอดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ถึง 10 วัน  อย่างไรก็ดี การศึกษานี้เป็นการทดลองในห้องมืด เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากแสงยูวีที่ฆ่าไวรัสได้

ระยะเวลาอยู่รอดของไวรัส จะน้อยลงในสภาพอากาศร้อน อย่างที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ไวรัสจะอยู่รอดได้ไม่ถึง 24 ชม. ส่วนที่อุณหภูมิ 30 องศา ระยะเวลาอยู่รอดของไวรัสจะแตกต่างกันไป เช่น 7 วันบนสแตนเลส แก้วและธนบัตรพลาสติก แต่หากเป็นไวนิลและผ้าฝ้าย จะตายใน 3 วัน ขณะที่ธนบัตรกระดาษ  เชื้อไวรัสจะยังตรวจพบได้อยู่หลังผ่านไป 21 วันภายในเงื่อนไขนี้ 

 

 

นักวิจัยกล่าวว่า ไวรัสโคโรน่าอยู่ได้นานบนบนพื้นผิวกระจก เป็นการค้นพบที่สำคัญ เนื่องจากอุปกรณ์ทัชสกรีนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ  ตู้เอทีเอ็ม เครื่องชำระเงินแบบบริการตนเอง หรือจุดเช็คอินสนามบิน ล้วนเป็นพื้นผิวผ่านการสัมผัสสูง ที่อาจไม่ได้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ เช่นเดียวกับ ไวรัสบนธนบัตรที่อยู่รอดได้นาน ก็เป็นอีกข้อมูลที่สำคัญ เมื่อพิจารณาถึงการหมุนเวียนและการเคลื่อนย้ายไวรัสที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างบุคคลและสถานที่ 

ไวรัสอยู่รอดได้บนพื้นผิวสแตนเลสที่อุณหภูมิต่ำ ยังอาจช่วยอธิบายได้ถึงการพบโควิด-19 แพร่ระบาดเชื่อมโยงกับห้องเย็นและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ตลอดจนสนับสนุนผลศึกษาที่พบว่า ไวรัส  SARS-CoV-2 อยู่รอดบนอาหารแช่แข็งหรืออาหารสดได้ 

ดร.แลร์รี มาร์แชลล์ ผู้อำวยการสถาบัน  CSIRO กล่าวว่า การหาข้อสรุปว่าไวรัสยังมีชีวิตบนพื้นผิววัตถุได้นานแค่ไหน จะช่วยให้คาดการณ์และควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และยิ่งตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน อย่างล้างมือและทำความสะอาดพื้นผิวสม่ำเสมอ 

ผลศึกษาที่พิมพ์เผยแพร่ในวารสารไวรัสวิทยา เมื่อ 5 ตุลาคม ยังเป็นอีกหลักฐานว่า ไวรัส  SARS-CoV-2 มีชีวิตอยู่ในสภาพอากาศเย็นในนานกว่า การควบคุมในฤดูหนาวจะยากกว่าในฤดูร้อน ขณะในซีกโลกเหนือ ฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามาแล้ว