บราซิล พบ คนแรกของโลก ติด โควิด-19 ซ้ำ ด้วยเชื้อกลายพันธุ์ นักวิจัยกังวลขัดขวางการทำงานแอนติบอดี ตอกย้ำคุมระบาด - เร่งรัดฉีดวัคซีน
สำนักข่าวทางการบราซิลรายงานเมื่อวันศุกร์ (8 มกราคม 2564) กรณีหญิงชาวบราซิลกลายเป็น “คนแรกของโลก” ที่กลับมาติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ชนิดกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “อี484เค” (E484K) ซ้ำอีกครั้ง
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและศึกษาดอร์ (IDOR) ในรัฐบาเอียทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจพบ หญิง วัย 45 ปี ผู้มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม และมีผลตรวจโรคเป็นบวกอีกครั้งจากการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ในเดือนตุลาคม
เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ อี484เค ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาใต้ เคยปรากฏอยู่ในบราซิลก่อนหน้านี้แล้ว แต่นี่นับเป็นผู้ป่วยรายแรกที่กลับมาติดเชื้อซ้ำด้วยเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์นี้ โดยผู้ป่วยหญิงรายดังกล่าวไม่มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงในการติดเชื้อทั้งสองครั้ง
อย่างไรก็ดี เพื่อยืนยันกรณีติดเชื้อซ้ำดังกล่าว จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์จีโนมหรือพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสองและเปรียบเทียบลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นโมเลกุล “ไพรม์” (prime) ของดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสองแตกต่างกัน
คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยและศึกษาดอร์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ เนื่องจากการที่ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ขัดขวางการทำงานของแอนติบอดีในการรักษาผู้ป่วย โดยปัจจุบันบราซิลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์อย่างน้อย 5 สายพันธุ์แล้ว
“การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนและตอกย้ำความจำเป็นของการรักษามาตรการควบคุมโรคระบาดใหญ่ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม และความจำเป็นของการเร่งรัดกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค” นักวิจัยของสถาบันวิจัยและศึกษาดอร์ บรูโน โซลาโน กล่าว
อ่านข่าว - ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งทะลุ 90 ล้านคน ไทยป่วยสะสมหลักหมื่น