ยุทธศาสตร์สำคัญ ไบออนเทค เตรียมตั้งโรงงานผลิตวัคซีน mRNA ใน สิงคโปร์
ย่างก้าวเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายและศักยภาพระดับโลก ไบออนเทค เตรียมตั้งโรงงานผลิตวัคซีน mRNA ใน สิงคโปร์
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมัน ไบออนเทค (BioNTech) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของบริษัทฯ ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
ไบออนเทค ยังประกาศการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) แบบครบวงจรในสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) โดย บริษัทฯ ระบุว่า โรงงานดังกล่าวจะปฏิบัติการได้ในปี 2023
ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งไบออนเทค อูกูร์ ซาฮิน กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การมีโรงงานหลายแห่งในเครือข่ายการผลิตของเราเป็นย่างก้าวเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายและศักยภาพระดับโลก”
(แฟ้มภาพซินหัว : กล่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากสหภาพยุโรป ที่ท่าอากศยานานาชาติในกรุงซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา วันที่ 4 พ.ค. 2021)
ไบออนเทค ระบุว่า โรงงานที่วางแผนไว้จะผลิตวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอแบบอัตโนมัติขั้นสูงและครบวงจร สำหรับการผลิตวัตถุดิบตัวยาสําคัญ ผลิตภัณฑ์ยา และการบรรจุและปิดผนึก โดยคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะผลิตวัคซีนได้หลายร้อยล้านโดสต่อปี ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ผลิต
ประธานคณะกรรมการฯ เบห์ สวอน กิน กล่าวว่า “การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้สิงคโปร์พัฒนาศักยภาพวิธีการรักษารูปแบบใหม่ที่สำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ของสิงคโปร์”
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (10 พ.ค.) ไบออนเทค เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีรายได้พุ่งขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2.05 พันล้านยูโร (ราว 7.73 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาสแรกของปี 2021 หลังมีรายได้น้อยกว่า 28 ล้านยูโร (ราว 1.05 พันล้านบาท) ในไตรมาสแรกของปีก่อน
(แฟ้มภาพซินหัว : ขวดบรรจุวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค ในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี วันที่ 31 มี.ค. 2021)
ไบออนเทค กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณวัคซีน โควิด-19 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยรายได้คาดการณ์ของ บริษัทฯ จากการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประมาณ 1.8 พันล้านโดสตามสัญญาที่ลงนามในปัจจุบันอยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านยูโร (ราว 4.68 แสนล้านบาท)
บริษัทฯ ระบุว่า เมื่อนับถึงวันที่ 6 พ.ค. วัคซีน บีเอ็นที162บี2 (BNT162b2) ที่พัฒนาโดยไบออนเทคและไฟเซอร์ (Pfizer) มากกว่า 450 ล้านโดส ถูกจัดส่งถึง 91 ประเทศหรือดินแดนทั่วโลกแล้ว
อ่านข่าว - พบหญิงวัย 80 ฟกช้ำทั่วร่างกาย หลังฉีดวัคซีน โควิด-19 แอสตราเซเนกา
CR : xinhuathai.com