แม่ให้กำเนิด "ลูกแฝดคนละพ่อ" หลังมีสัมพันธ์ชายสองคนในวันเดียวกัน
วัยรุ่นหญิงบราซิลให้กำเนิดลูกแฝด ตรวจดีเอ็นเอแล้วอึ้ง เมื่อพบว่า เป็น "ลูกแฝดคนละพ่อ" ภาวะหาได้ยาก 1 ใน ล้าน
แม่วัย 19 ปี จากเมืองมีเนโรส รัฐโกยาช ประเทศบราซิล คลอดลูกแฝด เมื่อส่งตรวจดีเอ็นเอ ก็ต้องอึ้งเมื่อชายที่เธอสันนิษฐานว่า เป็นพ่อของคู่แฝดทารกนั้น ปรากฏว่าเป็นพ่อของลูกเพียงคนเดียว แม่วัยรุ่นเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า เธอจำได้ว่า เคยมีสัมพันธ์กับชายสองคนในวันเดียวกัน เมื่อเรียกให้ชายอีกคนมาตรวจดีเอ็นเอ พบว่า เขาเป็นพ่อของลูกอีกคนจริง ๆ เธอประหลาดใจมาก ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ ลูกแฝดคนละพ่อเหมือนกันมาก เธอตัดสินใจตรวจยืนยันเมื่อลูกอายุ 8 เดือน เพื่อไขความสงสัยที่มีมาตั้งแต่ตั้งท้อง
แม้เป็นความจริงที่ว่าลูกแฝดมีพ่อคนละคน แต่ในสูติบัตร เป็นชายคนเดียวที่จดทะเบียนเป็นพ่อ เพราะเขาดูแลเธอและลูกอย่างดีมาตลอด
นายแพทย์ ตูลีโอ จอร์จ ฟรังโก ที่ดูแลเคสแม่วัยรุ่นรายนี้ กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า ไข่สองใบจากแม่คนเดียวกัน ปฏิสนธิกับสเปิร์มของชายคนละคน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า heteroparental superfecundation เชื่อว่าแม่วัยรุ่นบราซิล เป็นกรณีที่ 20 เท่าที่มีบันทึกในโลก “พบยากได้มาก เกิดขึ้นได้ 1 ใน ล้าน หมอไม่เคยคิดมาก่อนว่าตลอดชีวิตจะได้เห็นเคสแบบนี้” และว่าเด็กทั้งสองแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ปัจจุบัน อายุ 1 ขวบ 6 เดือนแล้ว แต่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในสัปดาห์นี้
แม้เป็นเคสพบได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นข่าวพาดหัวทั่วโลก เช่น เมื่อปี 2558 ศาลสหรัฐตัดสินให้ชายในนิวเจอร์ซีคนหนึ่ง จ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กแฝด 1 ใน 2 เพราะเขาเป็นพ่อของเด็กเพียงคนเดียว “เนื่องจากไข่มีอายุ 12-48 ชม. อสุจิอยู่ได้ 7-10 วัน เป็นไปได้ที่เวลาเหลื่อมกันหนึ่งสัปดาห์ ไข่สองใบปฏิสนธิกับอสุจิสองตัวจากเพศสัมพันธ์กับชายคนละคน” นายแพทย์คีธ เอดเดิลแมน ผู้อำนวยการแผนกสูติศาสตร์ โรงพยาบาลเมาท์ไซนาย นิวยอร์ก แสดงความเห็นในช่วงที่มีการพิจารณาคดี และว่า “เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยกว่าที่เราคิด หลายๆสถานการณ์ อาจไม่รู้เลยก็ได้ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ตรวจพิสูจน์ความเป็นพ่อกับเด็กแฝด"