'พิธา' ประกาศจุดยืน 'อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว' หนุนประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน
'พิธา' ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ประกาศจุดยืน 'อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว' หนุนประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน ตามกฎบัตรอาเซียน ย้ำรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล จะสนับสนุนความพยายามในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ และครอบคลุม
กระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียน-เมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ถูกตำหนิจากพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าเป็นรัฐบาลรักษาการไม่ควรจัดประชุมอาเซียน แต่ในเรื่องนี้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ โต้กลับว่า เขาทำเพื่อชาติ รอรัฐบาลใหม่ไม่ได้มองเป็นเรื่องผลประโยชน์ประเทศ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จาก ‘พิธา’ ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล ทวิตผ่านบัญชีชื่อ ‘Pita Limjaroenrat’ ใจความว่า เกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยและภูมิภาค ผมและทีมงานกำลังติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับประเด็นที่น่ากังวลในปัจจุบันคือ จุดยืนที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมา
ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลขอย้ำถึงแนวคิดและจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ดังต่อไปนี้:
1. การยึดมั่นในความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality): เราเชื่อในการดำเนินการที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางซึ่งจะนำไปสู่การหาทางออกในทางการเมืองต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่นำโดยอาเซียน และขอย้ำอย่างหนักแน่นถึงความสนับสนุนต่อการดำเนินการต่าง ๆ ในกรอบอาเซียน ทั้งโดยประธานอาเซียนในอดีตและในปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในฉันทามติห้าประการ (5PC)
ทั้งนี้ ไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่สมาชิกประเทศอาเซียน และสนับสนุนหลักการและคุณค่าด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน
2. ผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของเมียนมา: รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จะเสริมสร้างผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียนและเพื่อนบ้านของเมียนมาต่อสถานการณ์ในเมียนมา กล่าวคือ การเห็นเมียนมาเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และมีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในฐานะสมาชิกของอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศที่มีเขตแดนติดกับเมียนมาต่างปรารถนาและเห็นพ้องกัน รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจะประสานงานอย่างใกล้ชิดและปรึกษาหารือเป็นประจำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในประเด็นนี้ทุกฝ่าย อันเป็นหนทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
3. การเปิดพื้นที่เจรจาและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมเพื่อการรักษาเสถียรภาพ: เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการเปิดพื้นที่เจรจา และสร้างการมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการหาทางออกต่อสถานการณ์เมียนมา โดยการเปิดพื้นที่เจรจาและสร้างการมีส่วนร่วมนั้นต้องครอบคลุม หลากหลายมิติ และเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามครรลองทางการทูต เพื่อนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพของเมียนมาตามวัตถุประสงค์และหลักการในกรอบอาเซียน ตามแนวทางที่ผู้นำอาเซียนเห็นชอบในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42
นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องขององค์การสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติในการหาทางออกทางการทูตผ่านการไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกทางการเมืองต่อสถานการณ์ในเมียนมา
4. การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์: ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในเมียนมาและในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นด้านมนุษยธรรมควบคู่ไปกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินงานภายในประเทศไทย พรรคก้าวไกลมีแนวคิดเกี่ยวกับการหาสมดุลยภาพระหว่างจุดเชื่อมต่อด้านมนุษยธรรมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ (Humanitarian-Economic Nexus)
ซึ่งเป็นทั้งแนวทางที่ไม่เพียงแต่จะใช้รับมือกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม แต่จะสร้างสร้างโอกาสให้กับทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในพิ้นที่เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย ในระดับภูมิภาค รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลจะสนับสนุนความพยายามในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยการไม่เลือกปฏิบัติและครอบคลุม
5.ความท้าทายเรื่องพม่าหลากหลายมิติ: พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่า ความท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาครอบคลุมหลากหลายมิติ เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน การหลังไหลเข้ามาของผู้อพยพ การค้าอาวุธเถื่อน การค้ามนุษย์ ปัญหาฝุ่นควัน อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการลักลอบขนยาเสพติด
รวมไปถึงปัญหาการสู้รบในเมียนมาซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ดังนั้น รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา (Myanmar Inter-Agency Task Force) โดยเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
โดยคณะทำงานเฉพาะกิจนี้จะทำหน้าที่บูรณาการประสานงานการทำงานระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในไทยเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาที่สามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อเผชิญความท้าทายหลากหลายมิติจากสถานการณ์ในเมียนมา