ข่าว

เปิด 5 ชีวิต ใน เรือดำน้ำ 'ไททัน' 8.7 ล้าน แลกกับชมซาก 'เรือไททานิค'

เปิด 5 ชีวิต ใน เรือดำน้ำ 'ไททัน' 8.7 ล้าน แลกกับชมซาก 'เรือไททานิค'

21 มิ.ย. 2566

เปิดรายชื่อ 5 ชีวิต มหาเศรษฐี ใน เรือดำน้ำ 'ไททัน' ดำดิ่งชมซาก 'เรือไททานิค' แลกมาด้วยเงิน 8.7 ล้าน กับการหายไปอย่างไร้ร่องรอย

เหลือออกซิเจนอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น หลังการหายไปของ “ไททัน” เรือดำน้ำ ขนาดเล็ก ที่พาผู้โดยสาร 5 ชีวิต ดำดิ่งลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อชมซาก “เรือไททานิค” ที่ความลึกใต้ทะเล 3,800 เมตร ก่อนสูญหายไปอย่างไร้ร่อยรอย ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2566 หลังจากดำลงไปเพียง 1 ชั่วโมง 45 นาที เท่านั้น

 

 

 

 

จากนั้น การค้นหาครั้งยิ่งใหญ่ได้เริ่มต้นขึ้น จาก ณ เบื้องต้น ยังไม่ทราบผู้โดยสารที่อยู่ภายในกี่ชีวิต และเป็นใครบ้าง แต่จากข้อมูลของทางเว็บไซต์ โอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชั่น ออฟ เอเวอเรตต์ บริษัทนำเที่ยวเอกชนของแคนาดา ระบุว่า เรือดำน้ำไททัน ที่สูญหายไป เป็นยานใต้น้ำที่สามารถบรรทุกคนได้ 5 คน ประกอบด้วยคนขับ 1 คน และคนนั่ง 4 คน สามารถดำลงไปได้ลึกสุด 4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีออกซิเจนอยู่ราว 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน

 

เรือดำน้ำไททัน

นั่นหมายความว่า ยังเหลือเวลาค้นหาอีกประมาณ 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น นับตั้งแต่ปฎิบัติการค้นหา “ไททัน” ทั้งทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งล่าสุด ได้มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่อยู่ใน เรือดำน้ำ “ไททัน” ทั้ง 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับ มหาเศรษฐี ประกอบด้วย

 

 

 

 

  1. สต็อกตัน ชัช Stockton Rush ซีอีโอของ OceanGate Expeditions เจ้าของบริษัททัวร์เรือดำน้ำโอเชียนเกท
  2. ซาห์ซาดา แดวูด Shahzada Dawood นักธุรกิจชาวปากีสถานในสหราชอาณาจักร วัย 48 ปี หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่รวยที่สุดในปากีสถาน ประธานบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ของปากีสถาน
  3. สุเลมาน แดวูด Sulaiman Dawood ลูกชายวัย 19 ปีของ ของชาห์ซาดา แดวูด
  4. ฮามิช ฮาร์ดิง Hamish Harding วัย 58 ปี นักธุรกิจมหาเศรษฐีพันล้าน และเป็นนักสำรวจชาวอังกฤษ มีชื่อถูกบันทึกลงกินเนสบุ็คถึงสามครั้ง
  5. พอล-อองรี นาร์เกโอเลต Paul-Henri Nargeolet วัย 77 ปี นักสำรวจใต้น้ำชื่อดังชาวฝรั่งเศส อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศส ซึ่งเคยไปสำรวจเรือไททานิคมาก่อนแล้ว

 

 

 

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากข้อมูลถูกต้อง คนขับเรือ (กัปตัน) อาจเป็น Stockton Rush ซีอีโอของ OceanGate Expeditions เอง

 

เรือดำน้ำไททัน

 

ทั้งนี้ OceanGate Expeditions คือชื่อบริษัทเจ้าของเรือดำน้ำ ไททัน ที่สร้างมาเพื่อสำรวจ ถ่ายภาพ นำผู้สนใจลงไปดูใต้ทะเลลึก โดยเน้นไปที่เรือไททานิค ซึ่งเป็นเรือในตำนาน ปัจจุบันจมอยู่ที่ความลึก 3,800 เมตรใต้มหาสมุทร ใกล้ประเทศแคนาดา โดยสนนราคาสำหรับผู้สนใจ เริ่มต้นที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท แลกกับการดำลงไปดู เรือไททานิค ที่ตอนนี้เวลาผ่านไปมากกว่า 100 ปี มีความเปลี่ยนแปลง ที่ตัวเรือจากการกัดกร่อน โดยธรรมชาติ ถือเป็นจุดขายของบริษัทที่คิดธุรกิจนี้ขึ้นมา เนื่องจาก อายุ และสภาพปัจจุบันของเรือไททานิค เริ่มทรุดโทรม และเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่งพร้อมตอนนี้ จึงได้เกิดธุรกิจ พาผู้สนใจ ลงไปดูเรือไททานิค ของจริงขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เรือไททานิค มีผู้ให้ความสนใจ เป็นจำนวนมากทั่วโลก และเมื่อมีผู้ให้บริการที่พร้อม ก็มีผู้สนใจใช้บริการ แต่ก็ต้องระดับมหาเศรษฐีเท่านั้น

 

 

เรือดำน้ำไททัน

 

เรือดำน้ำ “ไททัน” มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สามารถดำลงใต้ทะลึกสุด 13,100 ฟุต บรรทุกผู้โดยสารได้ 5 คน และมีอากาศสำหรับการดำรงชีพ นาน 96 ชั่วโมง จะใช้เวลาดำลงใต้น้ำ ชมซากเรือไททานิค แล้วขึ้นสู่ผิวน้ำ รวมใช้เวลา 8 ชั่วโมง เพื่อสำรวจและตรวจสอบ วิจัยและเก็บข้อมูล บันทึกภาพและผลิตสื่อ ทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ระดับน้ำทะเลลึก

 

 

 

 

ข้อมูลจากเพจเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน ระบุว่า เดวิด โพก์ นักข่าวของซีบีเอส ที่เคยเดินทางไปกับเรือดำน้ำไททัน เมื่อปี 2565 บอกกับบีบีซี ถึงปัญหาที่ลูกเรือ ทั้งที่อยู่ใต้น้ำ และทีมที่อยู่บนบกจะต้องเผชิญ คือ ไม่มีทางใดๆ ที่จะติดต่อสื่อสารกับเรือดำน้ำได้ เพราะทั้งจีพีเอสและวิทยุ ไม่สามารถที่จะทำงานได้ใต้ท้องทะเล


เรือดำน้ำไททัน

 

และจุดสำคัญคือ ผู้โดยสารจะถูกปิดตายอยู่ภายในเรือจากสลักเกลียวที่อยู่ภายนอก ดังนั้น ไม่มีทางที่จะหลบหนีได้ แม้ว่าจะสามารถขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยตัวเองได้ก็ตาม เพราะผู้โดยสารจะไม่สามารถออกจากเรือดำน้ำได้ หากลูกเรือสนับสนุนที่อยู่ด้านนอกไม่เปิดให้

 

 

 

ทั้งนี้ การค้นหาเรือดำน้ำ “ไททัน” ยังคงเดินหน้า ทั้งทางเรือและเครื่องบินลาดตระเวน ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก จากปัจจัยแรงกดดันของน้ำ สภาพอากาศ แสงที่ไม่เพียงพอในตอนกลางคืน รวมถึงความลึกของห้วงทะเล ขณะเดียวกัน ทีมกู้ภัยและค้นหาต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากออกซิเจนในเรือดำน้ำไททัน หมดลงเรื่อยๆ

 

 

 

ขอบคุณภาพและข้อมูล : OceanGate Expeditions, เพจ เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน,bbc news