ซิมบับเว อนุมัติ ล้มช้าง 200 ตัว เป็นอาหารประทังชีวิตประชาชน หลังเจอแล้งหนัก
ซิมบับเว อนุมัติ ล้มช้าง 200 ตัว หลังประชาชน เผชิญกับความเสี่ยงอดอยากรุนแรง พร้อมลดความขัดแย้งระหว่างช้างและมนุษย์
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 สำนักข่าว CNN รายงานว่า ตินาเช ฟาราโว โฆษกจากหน่วยงานอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าซิมบับเว เปิดเผยถึงสถานการณ์ประชากรในประเทศเกือบครึ่งหนึ่งเผชิญกับความเสี่ยงอดอยากอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจล้มช้าง 200 ตัว
ฟาราโว เผยว่า ซิมบับเวมีช้างมากกว่า 84,000 ตัว ซึ่งมีมากกว่าความสามารถในการรองรับช้างของประเทศราว 2 เท่า หรือสามารถรองรับได้เพียง 45,000 ตัว และซิมบับเวถือว่า มีช้างมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบอตสวานา
สิตเมบิโซ นโยนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม เผยกับสมาชิกรัฐสภาว่า ซิมบับเวมีช้างมากกว่าที่ประเทศต้องการ และมีช้างมากกว่าที่ป่าจะรองรับไหว
เธอบอกด้วยว่า ประชากรช้างที่มีมากเกินไป ทำให้ขาดแคลนทรัพยากรสำหรับการดำรงชีพ และเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ในซิมบับเว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากประเทศนามิเบีย สั่งล้มช้าง และสัตว์ป่าอื่น ๆเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารที่ได้รับผลกระทบมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน
อนึ่ง นามิเบีย ประเทศที่มีสัตว์ป่ามากกว่า 700 ชนิด ได้อนุมัติล้มช้างเมื่อเดือนก่อน เพื่อนำเนื้อแจกจ่ายให้ประชาชนที่เผชิญกับความหิวโหยอย่างรุนแรง
การสั่งล้มช้างของทั้งสองประเทศ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสัตว์และกลุ่มอนุรักษ์มากมาย
ฟาไร มากาวู ผู้นำกลุ่มสนับสนุนศูนย์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในซิมบับเว โพสต์ในแพลตฟอร์ม X ว่า
ต้องยุติการฆ่าช้าง ช้างมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ คนรุ่นใหม่มีสิทธิที่จะได้เห็นช้างตามธรรมชาติ
ขณะที่เคธ ลินด์ซีย์ นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ และที่ปรึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ได้แสดงความไม่สบายใจต่อการใช้สัตว์ป่าเพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยาก
มีแนวโน้มที่เรื่องนี้จะเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ความต้องการเนื้อสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน
ด้านฟาราโว บอกว่า การตัดสินใจฆ่าช้างเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดความขัดแย้งระหว่างช้างและมนุษย์ หลังมีเหตุการณ์ช้างโจมตีมนุษย์ ซึ่งปีนี้มีคนเสียชีวิตจากช้างแล้วอย่างน้อย 31 รายในซิมบับเว
ข้อมูลจาก : CNN
ภาพ : reutersconnect