ข่าว

ช้าง กินได้ไหม รสชาติเป็นอย่างไร? ครั้งหนึ่ง โลกเกือบมี เนื้อช้างกระป๋อง

ช้าง กินได้ไหม รสชาติเป็นอย่างไร? ครั้งหนึ่ง โลกเกือบมี เนื้อช้างกระป๋อง

18 ก.ย. 2567

ไขข้อสงสัย ช้างกินได้ไหม รสชาติของเนื้อช้างเป็นอย่างไร หลัง ซิมบับเว อนุมัติ ล้มช้าง 200 ตัว เพื่อเป็นอาหารให้กับประชากรที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนอาหาร

กรณี ซิมบับเว อนุมัติ ล้มช้าง 200 ตัว เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนหลังจากที่ ประชากรในประเทศเกือบครึ่งหนึ่งเผชิญกับความเสี่ยงอดอยากอย่างรุนแรง โดยใน ซิมบับเวมีช้างมากกว่า 84,000 ตัว ซึ่งมีมากกว่าความสามารถในการรองรับช้างของประเทศราว 2 เท่า หรือสามารถรองรับได้เพียง 45,000 ตัว และซิมบับเวถือว่า มีช้างมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบอตสวานา

 

การล้มช้างกว่า 200 ตัว ในซิมบับเว ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นลดความขัดแย้งระหว่าง มนุษย์ กับ ช้าง ประชากรช้างที่มีมากเกินไป ทำให้ขาดแคลนทรัพยากรสำหรับการดำรงชีพ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของชาว ซิมบับเว อย่างน้อย 31 ราย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

เนื้อช้างบรรจุกระป๋อง

 

ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่ บอตสวานา ซึ่งเป็นประเทศที่มีช้างอยู่ประมาณ 130,000 ตัในขณะนั้น รัฐบาลได้เสนอให้จัดทำ "เนื้อช้างบรรจุกระป๋อง" เพื่อนำไปเป็นอาหารให้กับสัตว์เลี้ยง และเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมาย "ห้ามล่าช้าง" เนื่องจากจำนวนของช้างที่มากเกินไปต่อระบบนิเวศ ตามมาด้วยความขัดแย้งเพิ่มขึ้นระหว่างสัตว์ป่ากับคน

 

ปฏิกิริยา ของ ผู้คนที่มีต่อข้อเสนอทั้งสองเรื่อง เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การล่าอาจเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอนุรักษ์ได้ หากทำในพื้นที่ป่าหรือทำกับสัตว์ป่าที่ไม่เข้าพวก กับความงดงามของทุ่งซาฟารีที่ทำให้บอตสวานาเป็นที่รู้จักไปทั่ว

 

ส่วน นักอนุรักษ์จำนวนมากต่อต้านแนวคิดการลดจำนวนช้าง หรือล่าช้าง และเตือนว่า อาจจะได้รับปฏิกิริยาที่ไม่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

เนื้อช้างรสชาติเป็นอย่างไร ?

 

ในปี 2016 มีรายงานข่าวของ โรเบิร์ต บอร์ซาค ซึ่งขณะนั้นเขาเป็น ส.ส.รัฐสภา รัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม หลังจากที่เขาตอบคำถามกลางที่ประชุม ว่าเขากินเนื้อช้างจริง จากการไปทำกิจกรรมล่าช้างป่าที่ แอฟริกา 

 

บอร์ซาค บอกว่า "ตัวเขามีนโยบายกินเนื้อสัตว์ป่าที่ตัวเอลล่าได้เท่านั้น และยังได้เปิดเผยต่อว่า เขารู้สึกชื่นชอบรสชาติของเนื้อช้างป่าแอฟริกาสุด ๆ และยังเปิดเผยต่ออย่างไม่รู้สึกละอายใจว่า เขาได้เคยลองเนื้อช้างมาแล้วทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกินสด ๆ หลังจากแล่ออกมาจากตัว หรือการผ่านการปรุงรส และรวมไปถึงการตากแห้ง"

 

ในประเทศไทยเองก็มี การตั้งข้อสงสัยอยู่เหมือนกันว่า "เนื้อช้างรสชาติเป็นอย่างไร" โดย สมาชิกเว็บไซต์ พันทิป.คอม ได้ตั้งกระทู้ถามว่า "เนื้อช้างรสชาติเป็นยังไง" ก่อนจะมีสมาชิกหลายคนเข้ามาตอบคำถาม ซึ่งหลายคนต่างตอบเป็นทิศทางเดียวกันว่า "ไม่รู้ว่ารสชาติเนื้อช้างเป็นอย่างไร" พร้อมกับให้เหตุผลว่า ในประเทศไทยเอง ช้างป่า เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามล่า ห้ามครอบครองอวัยวะชิ้นส่วนของช้าง รวมทั้งงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง

สุราษฎร์ ทองมาก นักเขียนผู้มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี เคยเล่าเรื่องราวของ เนื้อช้างเอาไว้ว่า สมัยที่เป็นครูในทางภาคใต้ คนที่นั่นรู้ว่าผมชอบเที่ยวป่า วันหนึ่งมีคนเอาเนื้อสัตว์ย่างมาให้ลอง ซึ่งในตอนแรกบอกว่าเป็นเนื้อวัวแดง ก่อนจะมีคนเตือนว่า ถ้าไม่ใช่ครูจะปล่อยให้กินไปแล้ว 

 

ก่อนจะบอกว่า เนื้อที่มีคนเอามาให้กินนั้น เป็น "เนื้อช้าง" ซึ่งเมื่อสังเกต เห็นว่า เนื้อช้างมีเส้นลายเนื้อที่ใหญ่ และหยาบ กว่าเนื้วัว หมู และควาย ก่อนจะรู้ที่มาของเนื้อช้างว่า เป็นเนื้อช้างที่ถูกงูกัดตาย 

 

สุราษฎร์ บอกว่า ไม่ทันได้กินเนื้อช้าง ที่ถูกหลอกให้ลองชิม แต่ นายแพทย์บุญส่ง ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า เนื้อช้างมีรสชาติดี ฟังเรื่องราวทั้งหมด คลิก
 

 

"ช้างไทย" เคยถูกกินที่ "ปารีส"

 

บันทึกเมนูเฉลิมฉลอง 99TH DAY OF THE SIEGE (99 วันแห่งการปิดล้อม) มีการเสิร์ฟอาหารแบบฟูลคอร์สสมเป็นปารีเซียง ซึ่งประกอบไปด้วย ออเดิร์ฟหัวลายัดไส้ และเมนคอร์สที่มีให้เลือกระหว่างซุปถั่วแดงกับซุปช้าง เจ้าเมนูซุปช้างที่ว่านี้ บางแหล่งข้อมูลก็เชื่อกันว่ามันคือช้างคาสเตอร์และช้างพอลลักซ์ ซึ่งเป็นช้างพี่น้องที่สยามส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการให้กับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 นั่นเอง

 

ช้างคาสเตอร์และช้างพอลลักซ์ถูกส่งไปฝรั่งเศสพร้อมกับพระมหามงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ประจำเป็นดาวเด่นอยู่ในสวนสัตว์ Jardin des Plantes ในกรุงปารีสอยู่เกือบ 15 ปี และว่ากันว่าช้างทั้งสองเชือกก็ได้สังเวยชีวิตเป็นแหล่งโปรตีนสุดเอ็กโซติกให้กับเมืองในช่วงการปิดล้อมครั้งนั้น

 

การปิดล้อมกินเวลายาวนานข้ามปีไปจนสิ้นเดือนมกราคม ปารีสที่อยู่ในสภาพยับเยินและอ่อนแอทั้งคนทั้งเมืองยอมจำนนขอสงบศึกกับกองทัพรัฐเยอรมันแต่โดยดี นายแพทย์โรเบิร์ตบันทึกไว้ว่า ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมืองปารีสนั้นเงียบเชียบปราศจากเงาของฝูงสัตว์แทบจะสิ้นเชิง แม้กระทั่งหมาพูเดิลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปารีสก็แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็นอยู่เลย

 

ข้อมูลจาก BrandThink, BBC