
ตายนับร้อย! แอฟริกาใต้เร่งช่วยคนงานติดในเหมืองทองเถื่อน
สุดสลด! คนตายนับร้อย ทีมกู้ภัยแอฟริกาใต้ เร่งช่วยเหลือคนงานผู้รอดชีวิตติดในเหมืองทองเถื่อน โดยเชื่อว่ายังมีอีกหลายร้อยคนที่ยังฝังอยู่ใต้ดิน และบางส่วนก็อ่อนแอเกินกว่าจะออกมาได้เอง
สำนักข่าวต่างประเทศต่างออกมารายงานข่าว รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้เริ่มปฏิบัติการกู้ภัยเหมืองทองคำร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีคนงานเหมืองเสียชีวิตอย่างน้อย 109 ราย หลังจากหน่วยงานท้องถิ่นตัดน้ำตัดอาหารเพื่อปราบปรามขั้นเด็ดการทำเหมืองทองคำผิดกฎหมายของประเทศ โดยทางตำรวจแอฟริกาใต้ได้ออกมาบอกว่า เจ้าหน้าที่สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากเหมือง Stilfontein ได้อย่างน้อย 51 ศพ และผู้รอดชีวิต 106 ราย และเกรงว่ายังมีอีกหลายคนติดอยู่ข้างใน ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีคน 500 คนที่ยังคงติดอยู่ใต้ดิน โดยสาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากความหิวโหยและการขาดน้ำ
จดหมายที่คนงานเหมืองได้เขียนออกมานั้นสะท้อนให้เห็นถึงสภาพอันเลวร้ายที่คนงานเหมืองต้องเผชิญ “โปรดนำพวกเราออกไป โปรดช่วยให้เราออกไปได้ หรือถ้าไม่เป็นเช่นนั้น โปรดให้อาหารแก่พวกเราด้วย เพราะมีผู้คนเสียชีวิตอยู่ 109 คน และเราต้องการพลาสติกมาห่อพวกเขา เพราะกลิ่นแรงเกินไป เราทนกลิ่นนั้นไม่ไหว” คนงานเหมืองกล่าวในจดหมาย ขณะที่ตำรวจตัดอาหารและสิ่งของจำเป็นของคนงานเหมืองในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อพยายามบังคับให้พวกเขาออกไปและปิดเหมือง ซึ่งการเคลื่อนไหวของตำรวจ กับการปราบปรามอุตสาหกรรมการทำเหมืองที่ผิดกฎหมาย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มชุมชนและสหพันธ์สหภาพแรงงานแอฟริกาใต้ (SAFTU) โดยเรียกการกระทำดังกล่าวว่า "เป็นการแก้แค้น" และกล่าวว่าการกระทำดังกล่าว "อาจจบลงด้วยโศกนาฏกรรม"
ซึ่งทางศาลแอฟริกาใต้สั่งให้ตำรวจหยุดการเผชิญหน้าระหว่างการประท้วง จัดหาอาหารให้คนงานเหมืองที่ติดอยู่ และอนุญาตให้ทีมกู้ภัยเข้าถึงเหมืองได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (SAHRC) ยังระบุด้วยว่ากำลังสอบสวนหน่วยงานตำรวจกรณีหยุดส่งสิ่งของจำเป็นให้คนงานเหมือง และได้เริ่มดำเนินการกู้ภัยที่บริเวณปล่องที่ถูกทิ้งร้างแล้ว โดยต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสาธารณชนที่เพิ่มมากขึ้นและมีรายงานว่าคนงานเหมืองหลายคนเสียชีวิตไปแล้วนับร้อย
แอฟริกาใต้เป็นแหล่งอาศัยของนักขุดแร่แบบดั้งเดิมมากถึง 100,000 คน ซึ่งคนในท้องถิ่นเรียกกันว่า "ซามา ซามาส" โดยแร่ส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการทำเหมืองแบบดั้งเดิม "จะขายให้กับตลาดมืดและผู้ค้าแร่ผิดกฎหมายจากต่างประเทศ" ตามข้อมูลของ SAFTU ประเทศยังสูญเสียเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับการขุดเหมืองอย่างผิดกฎหมายทุกปี โดยการค้าทองคำในตลาดมืดเชื่อมโยงกับสงครามแย่งชิงอำนาจที่รุนแรง