ข่าว

รมว.ดีอีเอส เร่ง "จัดระเบียบสายสื่อสาร" เปิดท่อร้อยสายมุดลงใต้ดิน

รมว.ดีอีเอส เร่ง "จัดระเบียบสายสื่อสาร" เปิดท่อร้อยสายมุดลงใต้ดิน

04 ก.ย. 2565

รมว.ดีอีเอส เร่ง "จัดระเบียบสายสื่อสาร" เปิดท่อร้อยสายมุดลงใต้ดิน กลางเมืองหาดใหญ่ ผลักดัน “หนึ่งบ้านหนึ่งสายสื่อสาร”

จากกรณีเหตุไฟไหม้หลายครั้งที่ผ่านมา ผลการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ระบุว่า เกิดจากประกายไฟไหม้สายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งมีการออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการนำสายสื่อสายที่พันยุ่งเหยิงและไม่ได้ใช้งานออกไปให้หมดสิ้น

 

ล่าสุดวันนี้ (4 กันยายน 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเร่งรัดการ "จัดระเบียบสายสื่อสาร" ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บริเวณถนนกาญจนวนิช จากหน้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ถึงหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยสั่งการให้จัดระเบียบสาย​สื่อสาร รื้อสายที่ไม่ได้ใช้แล้วทิ้ง และมัดจัดระเบียบสายที่มีอยู่ให้เรียบร้อย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวง ดิจิทัลฯ ได้ประสานผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต "จัดระเบียบสายสื่อสาร" ในถนนเส้นหลักทั่วประเทศ วันนี้มีโอกาสมาติดตามให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานพร้อมเร่งรัดการจัดระเบียบใน อ.หาดใหญ่ ซึ่งในภาพรวมสามารถดำเนินการได้ตามแผนและงบประมาณที่อนุมัติมาแล้วได้ดีมาก ยังเหลืออีกบางพื้นที่ที่กำลังดำเนินการอยู่

 

เร่งสั่งการรื้อสายสื่อสาร

การ "จัดระเบียบสายสื่อสาร" เป็นการทำงานร่วมกันของผู้ให้บริการเครือข่ายฯ โดยนำสายสื่อสารของทุกเจ้ามามัดรวมให้เรียบร้อย เดินสายใหม่ เก็บสายเก่าทิ้ง ซึ่งจะทำให้ปริมาณสายสื่อสารบนเสาไฟลดลง เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น และในจุดที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการและสายสื่อสารมาก ก็จะนำลงท่อใต้ดิน

 

เปิดท่อใต้ดิน

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า หัวใจของการจัดสายสื่อสารคือเรื่องความปลอดภัย สายจะไม่ไปกีดขวางการจราจร หรือกระทบกับเรื่องอื่น ความรกรุงรังเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาให้ได้ เพราะทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ให้บริการ ให้สามารถ "จัดระเบียบสายสื่อสาร" ใช้สายไฟเบอร์ที่ต่อเข้าอาคารร่วมกันได้ หากผู้ใช้งานต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการ ก็สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ โดยไม่ต้องมีการเดินสายไฟเบอร์ในอาคารใหม่ “หนึ่งบ้านหนึ่งสายสื่อสาร”  ได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่เกิดความรกรุงรังในจุดเชื่อมต่อจากถนนเข้าไปถึงตัวอาคารด้วย

 

สั่งการอย่างใกล้ชิด