นายกฯเยี่ยมกำลังพล"เรือหลวงสุโขทัย"-ร่วมพิธีน้ำหลวงอาบศพ 6 นายทหาร
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมและให้กำลังใจกำลังพล"เรือหลวงสุโขทัย" 18 นาย ที่อยู่ระหว่างรักษาตัว ให้กำลังใจขอให้หายเป็นปกติโดยเร็ว ด้านเสนาธิการกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ บรรยายสรุปสถานการณ์ล่าสุดยอดสูญเสียกำลังพล 6 นาย อยู่ระหว่างค้นหา 23
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ธ.ค. เวลา 16.45 น. ) ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พล.อ .ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย (ร.ล.สุโขทัย) ที่เข้ารับการรักษาตัว จำนวน 18 นาย จากเหตุเรืออัปปาง โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามอาการ และกล่าวให้กำลังใจกับกำลังพล "เรือหลวงสุโขทัย" ทุกนาย ขอให้มีสุขภาพกายใจที่เข้มแข็ง ให้แข็งแรงเป็นปกติโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกำลังพล "เรือหลวงสุโขทัย" ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี รับฟังการบรรยายสรุปจาก พล.ร.ท.สมบัติ นาราวิโรจน์ เสนาธิการกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ สำหรับศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกำลังพล "เรือหลวงสุโขทัย" (ร.ล.สุโขทัย) มีบทบาทหน้าที่ 1. ติดตาม รวบรวมข้อมูลกำลังพล ที่ช่วยเหลือ/ที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล/ที่เสียชีวิต/ที่ค้นหา
2. การอำนวยความสะดวกช่วยเหลือและเยียวยากำลังพล และญาติ 3. นายทหารประสานงานในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยการดำเนินการของศูนย์ที่ผ่านมา 1) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือและเยียวยากำลังพล (1) ที่ช่วยเหลือปลอดภัย: ในการทำบัตรประชาชน ซิมโทรศัพท์ ธนาคาร มอบเงินบำรุงขวัญ จัดหาเครื่องแบบอุปกรณ์ประกอบเครื่องแบบ : ให้การปรึกษาแพทย์จิตวิทยา แนะนำการปฏิบัติตน (2) ที่บาดเจ็บ: ประสานในการรักษา มอบเงินบำรุงขวัญ (3) ที่เสียชีวิต: ตรวจสอบประกันภัย สหกรณ์ อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนศพและพิธีการศพ
2) อำนวยความสะดวกญาติ (1) ที่กำลังพลเสียชีวิต: โดยปรึกษาแพทย์จิตวิทยา แนะนำการปฏิบัติตน อำนวยความสะดวกและสอบถามความต้องการในการจัดการศพ : ตรวจสอบญาติโดยสืบสันดาน : ที่จัดตั้งศพ ที่พักของญาติในระหว่างพิธีศพ (2) ที่กำลังพลสูญหาย: โดยปรึกษาแพทย์จิตวิทยา แนะนำการปฏิบัติตน อำนวยความสะดวกในการปรึกษาแพทย์จิตวิทยา ขณะนี้มีสถิติการรับโทรศัพท์ให้ข้อมูลกับญาติ จำนวน 220 สาย และให้คำปรึกษาทางด้านจิตเวช ของญาติ จำนวน 14 ราย กำลังพล 3 ราย
ขณะเดียวกัน ศูนย์ประสานงานฯ ยังทำหน้าที่ในการรับผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และการรับศพในพระบรมราชานุเคราะห์ ประสานเรื่องน้ำหลวงอาบศพ กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประสานการพระราชทานเพลิงศพ กับกลุ่มอำนวยการพิธีการสงฆ์เขต โดยจะดำเนินงานด้านพิธีการศพให้กับครอบครัวกำลังพลที่เสียชีวิตตลอดทุกขั้นตอน จนถึงพิธีลอยอังคาร และศูนย์ประสานงานฯ ได้รับการสนับสนุนด้านอาหารจากครัวพระราชทาน จิตอาสา
ภาพรวมกำลังพล ร.ล.สุโขทัย 105 นาย (สถานะ เวลา 13.00 น. 22 ธ.ค. 65) ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 55 นาย บาดเจ็บ (Admit) 19 นาย (รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 18 นาย รพ.บางสะพาน 1 นาย) เสียชีวิต 6 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 23 นาย จำแนกได้ดังนี้
1. ร.ล.สุโขทัย 75 นาย ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 41 นาย บาดเจ็บ (Admit) 14 นาย เสียชีวิต 4 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 14 นาย
2. หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) 15 นาย ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 4 นาย บาดเจ็บ (Admit) 4 นาย เสียชีวิต 1 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 6 นาย
3. หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) 15 นาย ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 10 นาย บาดเจ็บ (Admit) 1 นาย เสียชีวิต 1 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 3 นาย
จากนั้น เวลา 17.30 น. นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพข้าราชการ ร.ล. สุโขทัย จำนวน 6 นาย พิธีวางพวงมาลาพระราชทาน และพิธีสวดอภิธรรม ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ โดยมีคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ รวมถึงกำลังพลของกองทัพเรือ จากหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ และส่วนราชการในพื้นที่สัตหีบร่วมไว้อาลัย
ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย คือ ว่าที่เรือเอก สามารถ แก้วผลึก , พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์ , จ่าเอก จักรพงค์ พูนผล และ พลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ สังกัด กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ (กร.) , พันจ่าเอก อำนาจ พิมที สังกัด หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) และ พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตั้งบำเพ็ญกุศลฯ กิจการฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ
ในส่วนของสิทธิกำลังพลผู้เสียชีวิตนั้น กรณีนี้กองทัพเรือ ถือว่ากําลังพลดังกล่าวเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จะพิจารณาบําเหน็จด้านสิทธิกําลังพลสูงสุดให้แก่กําลังพลดังกล่าว โดยจะพิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือน 3 - 5 ชั้น กับขอพระราชทานเลื่อนยศ 2 - 4 ชั้นยศ รวมทั้งเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามสิทธิที่สมควรจะได้รับ โดยแยกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
ชั้นยศ นาวาตรี จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเรือโท กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 160,0000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 1,200,000 บาท
ชั้นยศ เรือเอก จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเรือตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 160,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผู้ที่มีอายุราชการและฐานเงินเดือนสูงชั้นยศ พันจ่าเอก จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น นาวาตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 135,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท
ชั้นยศ จ่าตรี - จ่าเอก จะขอเลื่อนยศและขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พันจ่าโท - เรือตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 135,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 900,000 บาท
ในส่วนของทหารกองประจําการจะขอเลื่อนยศเป็น พันจ่าตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 100,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาทโดยกองทัพเรือ จะเร่งรัดการดําเนินการให้กําลังพลและครอบครัวได้รับสิทธิกําลังพลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้แก่กําลังพลและครอบครัวต่อไป