'ชัชชาติ' เริ่มระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรให้ถนน กทม. 4 สาย มี 'ไฟเขียว' ดีขึ้น
รอมา 5 ปี ต่อไป 'ชัชชาติ' เริ่มใช้ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรให้มี 'ไฟเขียว' ที่ดีที่สุด โดยติดตั้งนำร่องบนถนนหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่งและสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ในพื้นที่ กทม. หรือ Bangkok Area Traffic Control Project เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการใช้ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร หรือระบบ ATC ที่มีศูนย์ควบคุมกลาง ซึ่งจะทำให้สัญญาณ "ไฟเขียว" ดีขึ้น หรือมากขึ้น
โครงการ BATCP นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ กทม. มุ่งส่งเสริมการบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ เพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ การนำระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือระบบ ATC จะมีศูนย์ควบคุมกลางอยู่ ณ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ซึ่งจะทำให้จับสภาพการจราจรเรียลไทม์
ระบบ ATC นี้จะใช้เซนเซอร์เก็บข้อมูลสภาพจราจรในพื้นที่ผ่านเครื่องตรวจจับยานพาหนะแบบ Ultrasonic และกล้อง CCTV ที่ตรวจจับสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ หรือ ดูการจราจรเรียลไทม์ อุปกรณ์ตรวจจับเหล่านี้จะส่งข้อมูลที่รวบรวมได้ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปยังศูนย์ควบคุมการจราจร
จากนั้น กทม.จะใช้อัลกอริทึมขั้นสูงที่เรียกว่า MODERATO วิเคราะห์ข้อมูลการจราจรและคำนวณเวลาสัญญาณไฟที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสัญญาณไฟจราจรในพื้นที่นำร่อง โดยคำนึงถึงปริมาณการจราจร ระดับความติดขัดหรือดูรถติด และปรับเวลาสัญญาณไฟให้เหมาะกับสภาพการจราจรในพื้นที่แบบเรียลไทม์ โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดสัญญาณไฟเขียวที่ดีที่สุด
ระบบนี้จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาบันทึกข้อมูลการจราจรและข้อมูลการทำงานของสัญญาณไฟ เพื่อให้นำไปใช้วิเคราะห์และปรับปรุงในอนาคตได้อีกด้วย
นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ก็จะเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ เรื่องการจราจรเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และส่งผลไม่ใช่แค่ในมิติรถติด แต่หมายถึง เศรษฐกิจ ชีวิตของประชาชนที่จะมีเวลากลับคืนมามากขึ้น การใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว
รวมถึงอนาคตของ กทม.เองด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว กทม. ก็ต้องการดึงคนเก่ง ดึงบริษัทที่มีศักยภาพมาอยู่กับเรา สร้างเมืองที่น่าอยู่ ถ้าการจราจรเราติดขัด รถเคลื่อนที่ไม่ได้ โอกาสที่เราจะเป็นเมืองชั้นนำแห่งภูมิภาคก็น้อยลง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 และเป็นรูปธรรมในวันนี้ ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของความร่วมมือกันในครั้งนี้ แต่ปัจจุบันใน กทม.มี 500 สัญญาณไฟ เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าในอนาคตจะขยายผลอย่างไรให้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งจากการทดลองใช้งานถนนพหลโยธินการจราจรดีขึ้นประมาณ 15% หรือรถติดน้อยลง
นายชัชชาติ เชื่อว่าจะเห็นการขยายผลโครงการนี้ใน กทม. อย่างรวดเร็วในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อาทิ ข้อมูลจาก GPS มาดูปริมาณรถแทน ซึ่งขณะนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังทดลองทำอยู่
สำหรับ ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือระบบ Area Traffic Control : ATC เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA ซึ่งได้ร่วมลงนามในข้อตกลง (MOU) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 เพื่อนำร่องแก้ปัญหาจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2565 นายชัชชาติ ได้หารือกับ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.เพื่อแก้ปัญหาจราจรใน กรุงเทพฯ มีข้อสรุป 5 ข้อ เช่น จะจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วมที่มีทั้ง กทม. กระทรวงคมนาคม ตำรวจ ขสมก. ทางด่วนและรถไฟฟ้า โดยเทศกิจจะแก้ปัญหาจุดเร่งด่วน และ กทม.จะรับวิเคราะห์แผนที่แก้รถติดซ้ำซาก
นอกจากนั้นจะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อนำระบบเทคโนโลยีมาปรับปรุงการบริหารการจราจร ที่มีทั้ง ตำรวจ กทม. คมนาคม โดยกำหนดเวลาศึกษาให้เสร็จใน 1 ปี ด้านความปลอดภัย กทม.จะนำข้อมูลความเสี่ยงจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาวิเคราะห์ความเร็วจุดที่ต้องต่ำกว่า 80 กม./ชม. โดยจะจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลาง (Command Center) ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร และ 37 หน่วยงานที่บูรณาการการทำงานแบบไร้รอยต่อ
การแก้ปัญหาจราจรของนายชัชชาติ ตั้งแต่เป็นผู้ว่าฯ กทม.อาจไม่มีรูปธรรมมากนัก แต่ได้กำหนดนนโยายมาตั้งต้น เช่น นโยบายรถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด เพื่อให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ลดเวลาบนท้องถนนลง โดยจะปรับกายภาพถนนเพื่อลดแรงเสียดทานบนถนนที่จะส่งผลกระทบต่อกระแสจราจรลง เช่น
- ปรับปรุงจุดตัด คอขวดต่างๆ บนท้องถนน เช่น เพิ่มการเว้าเกาะกลางในแยกที่มีจุดเลี้ยวรถ เพื่อให้รถที่จะเลี้ยวไปพักหลบตรงที่เว้าได้โดยไม่รบกวนกระแสจราจร
- ปรับปรุงหัวโค้งหัวมุมให้เกิดการเลี้ยว การตีวงที่ไม่ใช้หลายช่องจราจร
- ปรับ เพิ่ม/ลด จำนวนช่องทางจราจรเพื่อเพิ่มความจุถนนโดยเฉพาะบริเวณทางแยก
- การห้ามเลี้ยวในบางกรณี โดยต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้กระแสจราจรไหลเวียนคล่องตัว
- เทศกิจจราจร ลงพื้นที่แก้ไขจุดฝืด เช่น กวดขันวินัยจราจรรถจอดริมถนน ที่ทำให้เสียช่องจราจรไป
- ขอคืนพื้นผิวจราจรจากโครงการก่อสร้าง รวมถึงการจัดการจราจรบริเวณการก่อสร้างให้เกิดจุดฝืดน้อยที่สุด
(ที่มา: https://www.chadchart.com/policy/6214bde7204d4c4f8ab8c828/)