เปิดฉากนิติกรรมอำพราง 'ที่ดินสารสิน' ส่อเค้าเขย่าเส้นทางว่าที่นายกฯ?
จุดเริ่มต้นการทำนิติกรรมอำพรางซื้อ-ขาย ที่ดินสารสิน ทำเลทองหุ้มเพชร ส่อเค้าลางเป็นขวากหนามเส้นทางไปสู่เก้าอี้ว่าที่นายกฯ หรือไม่ มูลเหตุการทำกรรมสิทธิโอนที่ดินมีจุดน่าสงสัย ด้านทนายระบุไม่เข้าข่ายทำผิดกฎหมายที่ดิน
เปิดพิกัดการซื้อขายที่ดินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ปล่อยเหยื่อล่อปลา โดยบอกว่าเตรียมแฉแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยชูวิทย์ ระบุว่า พบมีการเลี่ยงภาษี "ที่ดินสารสิน" ซึ่งทำรัฐเสียหายกว่า 521 ล้านบาท แต่การออกมาให้ข่าวดังกล่าวยังไมได้ระบุอย่างละเอียด เหมือนกับรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลที่ เพื่อไทย พลิกเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล
แต่หลังจากที่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ไร้ก้าวไกลในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายชูวิทย์เลยเปิดฉากกระบวนการแฉเพื่อชาติอีกครั้ง พร้อมกับปล่อยข้อมูลที่การซื้อขาย "ที่ดินสารสิน" ที่ราคาแพงที่สุดในประเทศ บริเวณย่านถนนสารสิน ซึ่งมีหลักฐานการซื้อขายระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทประไพทรัพย์ ที่ยกเลิกการจดทะเบียนบริษัทไปแล้ว จุดเริ่มต้นการแฉครั้งนี้จะนำไปสู่การทำนิติกรรมอำพรางตามที่ "ชูวิทย์" ได้ระบุเอาไว้หรือไม่ และจะสะเทือนเส้นทางการขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของแคนดิเดตนายกฯตัวสูงหรือไม่ คมชัดลึก สรุปข้อมูล ดังนี้
โฉนดหมายเลขเดียวกัน 16515 เนื้อที่ 1 ไร่ หรือ 399.7 วา ตั้งอยู่ใน ถ.สารสิน ตารางวาละ 3,930,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ดินแพงที่สุดในไทย เดิมเป็นที่ดินของนายพจน์ สารสิน โอนให้ทายาทและต่อมาขายให้ท่านผู้หญิงนงเยาว์ ต่อมาขายให้นางประไพ เมื่อปี 2507 และได้โอนที่แปลงนี้ให้ บริษัท ประไพทรัพย์ ปี 2527 หลังจากนั้น บริษัท ประไพทรัพย์ มีการเลิกบริษัทประไพทรัพย์ และแบ่งที่คืนตามสัดส่วนหุ้นทั้ง 12 คน โดยในปี 2562 มีการขายที่ดินให้แก่ บริษัท แสนสิริ 1,570,821,000 บาท แต่ที่ดินดังกล่าวยังมีการหุ้นส่วนในการถือครองจำนวน 12 คน ดังนั้นการซื้อขายที่ดินจะต้องเป็นการซื้อ-ขายที่ดินร่วมกันแบบ คณะบุคคล เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเดียวกันโฉนดเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกแปลง และไม่มีการระบุว่าแต่ละคนอยู่ตำแหน่งใดอย่างชัดเจน
- ค่าธรรมเนียมการจ่ายภาษีที่ดินแบบคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ
การซื้อ-ขาย ที่ดินตามปกติทั่วไปการซื้อขายที่ดินจะต้องมีการเสียภาษี 2 ส่วน ดังนี้
1.การเสียภาษี ณ กรมที่ดิน และการเสียภาษีสรรพากร โดยจะมีค่าใช้จ่ายวันโอน ณ สำนักงานที่ดิน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการโอน, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราของกรมที่ดิน, ภาษีธุรกิจเฉพาะ) เป็นเงิน 59,247,317 บาท
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (สิ้นปี) อัตราก้าวหน้า 35% เป็นเงิน 519,770,809 บาท
รวม ค่าภาษีและค่าธรรมเนียม ทั้งสิ้น 579,018,126.45 บาท
- จุดสงสัยการทำนิติกรรมโอนซื้อ-ขายที่ดิน
ในปี 2561 ได้ยกเลิกจดทะเบียนและแบ่งที่ดินคืนให้ผู้ถือหุ้นตามส่วนจำนวน 12 ราย แบ่งการโอนที่ดินเป็น 12 นิติกรรม ตามจำนวนผู้ถือหุ้นเดิม พร้อมกับจัดทำกรรมสิทธิร่วมบนที่ดินฉบับละ 1 คน แบ่งการโอนที่ดิน 12 คน 12 วัน วันละ 1 กรรมสิทธิ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าเกณฑ์คณะบุคคลซึ่งต้องจ่ายภาษีมากกว่าหลายเท่า
ผู้ถือกรรมสิทธิทั้ง 12 ราย ตัดสินใจขายที่ดินพร้อมกัน ให้กับบริษัทเดียวกัน แสดงให้เห็นว่ามีการตกลงขายร่วมกันเป็นคณะบุคคล แต่การโอนกลับทะยอยโอนที่ละกรรมสิทธิ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และการจ่ายภาษีอัตราก้าวหน้า 35% ซึ่งจะต้องจ่ายเงินมากกว่า 579 ล้านบาท
- แบ่งที่ดินตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น โดยมีรายละเอียดการโอนเงินค่า "ที่ดินสารสิน" ดังนี้
- จากปาก 'ชูวิทย์' นี่คือการทำนิติกรรมอำพรางซื้อขาย 'ที่ดินสารสิน'
นายชูวิทย์ จัดแถลงข่าว "แฉเพื่อชาติ EP1" เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ภายหลังพรรคเพื่อไทยแถลงฉีก MOU ไม่จับมือก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล โดยได้เปิดข้อมูลการซื้อขายที่ดินดังกล่าวว่า เข้าข่ายการทำนิติกรรมอำพราง เพราะแบ่งขาย 12 คน 12 วัน จ่ายเฉพาะกรมที่ดิน 59.2 ล้านบาท ทำให้รัฐไม่ได้ภาษี 521 ล้านบาท "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี 4 หมื่นหุ้น ยังไม่ได้ทำความเสียหายให้รัฐแม้แต่บาทเดียว แต่การขายที่ดินดังกล่าวอาจมีผู้ร่วมกระทำความผิดโดยการหลีกเลี่ยงภาษีให้ผู้ขาย 521 ล้าน ทำให้รัฐไม่ได้เงิน จะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ซื้อในนามบริษัทแสนสิริไม่รู้เรื่อง เพราะผู้ขายเสนอวิธีการขายแบบเลี่ยงภาษี แต่ผู้ซื้อก็ยังซื้อที่ดินนี้ในปี 2562 ในราคาตารางวาละประมาณ 3,930,000 บาท ถือเป็นการสมรู้ร่วมคิด เพราะราคาประเมินในเวลานั้น 1,000,000 ต่อตารางวา แต่ไม่มีทางขายได้ถึง 3,930,000 บาท นอกจากนี้มีการชำระเงินมัดจำล่วงหน้าสูงเกินกว่า 50% และมีอัตราที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน
- ประวัติ 'ที่ดินสารสิน' จุดเริ่มต้นแฉเพื่อชาติ
เริ่มต้นที่ดินเป็นของนายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศไทย
ปี 2491 นายพจน์ ยกที่ดินให้กับน้องชาย คือ นายกิจ สารสิน
ปี 2493 นายกิจ สารสิน ขายที่ดินให้กับ ท่านผู้หญิงนงเยาว์ ธรรมาธิกรณาธิบดี
ปี 2494 ท่านผู้หญิงนงเยาว์ โอนที่ดินเป็นมรดกให้หลานชาย คือ หม่อมหลวงปม มาลากุล
ปี 2507 หม่อมหลวงปม มาลากุล ขายที่ดินให้กับ นางประไพ ชินพิลาศ
ปี 2526 นางประไพ ชินพิลาศ ตั้งบริษัทชื่อ บ.ประไพทรัพย์ จำกัด และนำที่ดินแปลงนี้โอนเข้าชำระหุ้นเข้าบริษัท
สำหรับที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีโฉนดเลขที่ 16515 เลขที่ดิน 56 หน้าสำรวจ 619 ตั้งอยู่ที่ ถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม คมชัดลึก สอบถามไปยังทนายความ เรื่องวิธีการโอนกรรมสิทธิเพื่อซื้อขายที่ดินในลักษณะที่ดินผืนเดียวกัน มีเจ้าของหลายคน และแบ่งการโอนคนละครั้งถือว่าเข้าข่ายการเลี่ยงภาษีที่ดินหรือไม่ สรุปว่า การโอนกรรมสิทธิซื้อ-ขายที่ดิน แปลงเดียวกันแต่คนละครั้ง สามารถทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลี่ยงภาษีที่ดินตามกฎหมายซื้อ-ขายที่ดิน และประมวลกฎหมายที่ดิน เนื่องจากเจ้าของที่มีกรรมสิทธิที่ดินหลายคนไม่ได้มีควาพร้อมที่จะดำเนินการโอนแบบเป็นคณะบุคคล ซึ่งการโอนกรรมสิทธิที่ดิน การชำระค่าธรรมเนียม เจ้าของที่ในแต่ละส่วนก็ดำเนินการชำระในส่วนของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนพฤติกรรมที่เข้าข่ายการเลี่ยงภาษีที่ดินนั้น จะเป็นการแจ้งราคาที่ดินที่ซื้อขายที่ไม่ตรงตามราคาที่ซื้อขายจริงมากกว่า
ด้าน ดร. โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ การประเมินค่าทรัพย์สิน การพัฒนาการเมือง ให้สัมภาษณ์กับคมชัดลึก ว่า หากการซื้อขายที่ดินในลักษณะการแบ่งการโอนกรรมสิทธิรายบุคคลในที่ดินแปลงเดียวกันผิดกฎหมาย จะต้องถูกทักท้วงตั้งแต่เริ่มตั้นกระบวนการโอนแล้ว รวมไปถึงกรรสรรพากรจะต้องมีการเรียกภาษีย้อนหลัง หรือท้วงติงไปแล้ว โดยการแบ่งการโอนกรรมสิทธิที่ดินในกรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเลี่ยงภาษีที่ดิน เพราะตามกฎหมายสามารถทำการโอนแบบแบ่งส่วนได้ แต่การซื้อขายที่ดิน หรือการโอนที่ดินที่เข้าข่ายเลี่ยงภาษีที่ดินนั้นจะเป็นลักษณะที่เจ้าของค่อยๆทะยอยหั่นขายที่ดินแปลงเดียวกันแต่ที่ละส่วน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน
สำหรับในวงการอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่พบว่ามีการโอนที่ดินในลักษณะที่หนึ่งแปลงแต่มีเจ้าของหลายคนเช่นนี้มาก่อน เพราะถือว่าเป็นการมีเจ้าของร่วมกันในที่ดินที่มีจำนวนเยอะมาก และยังไม่เคบพบว่ามีการซื้อขายท่ดินในลักษณะกลุ่มบุคคลเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม วันเดียวกัน นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ชี้แจ้งกรณีมีการกล่าวพาดพิงนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของแสนสิริ ได้มีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยงภาษีซื้อขายที่ดินของบริษัท โดยระบุว่า นายเศรษฐาจะมีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนอนุมัติซื้อที่ดินโดยพิจารณาจากตัวเลข และข้อมูลที่ทีมสรรหาที่ดินของแสนสิริได้จัดทำ โดยนายเศรษฐาอนุมัติเพียงแค่ราคาและมูลค่าเงินลงทุนเท่านั้น ส่วนการทำสัญญา ชำระราคา และการโอนฯ เป็นหน้าที่ของทีมสรรหาที่ดินทั้งหมด
ดังนั้น นายเศรษฐาจึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับรู้ขั้นตอนวิธีการในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังทำสัญญาจะซื้อจะขาย และอยู่ในความรับผิดชอบของทีมสรรหาที่ดิน