ข่าว

ผส.ยัน 'เบี้ยผู้สูงอายุ' ยังได้ตามเดิม หลังรัฐบาลปรับหลักเกณฑ์

ผส.ยัน 'เบี้ยผู้สูงอายุ' ยังได้ตามเดิม หลังรัฐบาลปรับหลักเกณฑ์

16 ส.ค. 2566

อธิบดีผส. ยืนยันผู้สูงอายุเดิมยังได้รับ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' หลังรัฐบาลปรับหลักเกณฑ์ใหม่ จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะมีการออกระเบียบกฏเกณฑ์ใหม่ และต้องรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกัน

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่าย 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจ่าย 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' เนื่องจากมีการปรับปรุงในเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ข้อ 6(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด 

 

ทั้งนี้ ระเบียบใหม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ข้อ 17 วรรค 1 บรรดา 'ผู้สูงอายุ' ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงิน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับให้ ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป และ ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วย 'ผู้สูงอายุ' ยังมิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ตามข้อ 6(4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน

อธิบดีผส.ยันผู้สูงอายุเดิมที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ยังได้รับตามเดิม

 

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นของการปรับปรุงระเบียบดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อ 'ผู้สูงอายุ' ที่รับเบี้ยยังชีพเดิม และยังคงสิทธิรับเบี้ยยังชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทยจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. จะหารือในเรื่องระเบียบดังกล่าว ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ

 

ด้านนางบุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยกับทางทีมข่าวคมชัดลึกว่า สำหรับการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ฉบับใหม่ ต่างจากระเบียบใหม่ในเรื่องของคุณสมบัติของผู้ได้เบี้ยยังชีพ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิสวัสดิการอื่นใดจากภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นใด มีความเปลี่ยนแปลงเป็นจ่ายให้ 'ผู้สูงอายุ' ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกระบวนการจ่ายเบี้ยยังชีพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การยืนยันสิทธิของผู้สูงอายุ การอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุที่จะรับสิทธิเบี้ยยังชีพ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีมากขึ้น ทั้งในเรื่องของกาแจ้งยืนยันสิทธิ โดย'ผู้สูงอายุ' เองจะได้รับการแจ้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแจ้งยืนยันสิทธิของตนเองพร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้องค์กรส่วนท้องถิ่น โดยองค์การส่วนท้องถิ่นจะอำนวยความสะดวกในกรณีการย้ายภูมิลำเนาก็จะสามารถรับสิทธิได้ต่อเนื่องด้วยระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

น.ส.บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวด้วยว่า หากผู้สูงอายุมีอายุเปลี่ยนจากเดิม จะได้'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ'ใหม่เลยตามขั้นบันไดในเดือนถัดไป 

 

ทั้งนี้ในปี 2566 ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพจะมีประมาณ 11 ล้านคนด้วยงบประมาณ 87,500 กว่าล้านบาทซึ่งเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับ 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ในปัจจุบัน โดยการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 48 ได้กล่าวถึงสิทธิของผู้สูงอายุไว้ว่า บุคคลที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี ขึ้นไป ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเหมาะสม ซึ่งกำหนดเกณฑ์ไว้ 2 แบบคือ อายุ 60 ปีแล้วปีขึ้นไป และรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ แต่ในระเบียบของพรบ.ผู้สูงอายุ กำหนดไว้ว่าการจ่าย 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' เป็นรายเดือนจ่ายอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ขณะที่ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยฉบับปี 2552 ได้กล่าวถึงคุณสมบัติผู้สูงอายุที่เป็นการพูดถึงแหล่งรายได้ จึงมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่มาให้กระทรวงมหาดไทยต้องปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้องและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

 

สำหรับในเรื่องของคุณสมบัติเกณฑ์รายได้ตามระเบียบใหม่ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ในระเบียบใหม่ยังไม่ได้มีการกำหนด ซึ่งการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติต้องกำหนดโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยในระเบียบนี้จะมีบทเฉพาะกาลข้อ 17 และข้อ 18 หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่ได้ออกกฏเกณฑ์ใดๆ ก็จะยังคงใช้ระเบียบตามเดิม ดังนั้นจึงยังไม่อยากให้ผู้สูงอายุกังวลหรือตกใจ เนื่องจากทุกอย่างยังเหมือนเดิมยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพตามระเบียบเดิม ผู้สูงอายุเดิมที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ก็ยังคงสิทธิในการรับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิมทุกประการ รวมถึงผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ก็ไม่ต้องกังวลใดๆทั้งสิ้น เพราะยังคงใช้ระเบียบเดิมอยู่ 

 

สำหรับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะมีการกำหนดระเบียบกฏเกณฑ์อย่างไร คงต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบในหลายมิติ เนื่องจากการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงภาระทางงบประมาณการเงิน การคลังและต้องรอนโยบบายของรัฐบาลใหม่ด้วย