ข่าว

ตำนาน 'พระนอนป้านปิง' พระนอนเก่าแก่ล้านนาอายุเกือบพันปี วัดพระนอนหนองผึ้ง

ตำนาน 'พระนอนป้านปิง' พระนอนเก่าแก่ล้านนาอายุเกือบพันปี วัดพระนอนหนองผึ้ง

27 ส.ค. 2566

พระพุทธไสยาสน์ วัดหนองผึ้ง อายุเกือบพันปี กับตำนาน 'พระนอนป้านปิง' พระเจ้าเลียบโลก ศรัทธาจากเวียงกุมกามสู่ปัจจุบัน

ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนเก่า ที่เรียงรายไปด้วยต้นยางขนาดยักษ์ นับเป็นเสน่ห์ของถนนเส้นนี้ ไม่เพียงแค่ต้นยางขนาดใหญ่ ถนนสายนี้เป็นถนน 'ประวัติศาสตร์' เส้นสำคัญของเชียงใหม่ที่เชื่อมต่ออาณาจักรโบราณที่สำคัญอย่างหริภุญชัยในจังหวัดลำพูน และ เวียงกุมกาม เมืองโบราณที่พระญามังรายทรงสถาปนาก่อนย้ายมาตั้งเมืองเชียงใหม่

 

วัดพระนอนหนองผึ้ง วัดเล็กๆในชุมชน ในต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ วัดเล็กที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งศรัทธาของ พระนอนป้านปิง

เช้าวันพระ ที่วัดแห่งนี้จะมีพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ในชุมชนเดินทางมาวัดใส่บาตรฟังเทศน์ พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชาของชาวล้านนา คือ ข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน นั่งฟังเทศน์สวดมนต์หน้าองค์พระนอนขนาดใหญ่ในวิหาร

พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ทำบุญวันพระที่วัดพระนอนหนองผึ้ง

วัดพระนอนหนองผึ้ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระญามังราย มีตำนานซ้อนกันสองประเด็น เกี่ยวกับที่มาของพระพุทธรูปและชื่อเรียกที่แตกต่างกันสองชื่อ คือ การเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะตั้งแต่อดีต ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1200 ได้มีพระมหาเถระเจ้าจำนวน 5 รูป ซึ่งติดตามพระนางจามเทวี มาครองนครหริภุญชัย ได้ธุดงค์มาบริเวณนี้ตามคำเชิญของพระเทวฤาษีได้จารึก และเทศนาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวลัวะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาประสาทะ จึงได้นำรังผึ้งจากต้นมะขามริมสระน้ำใกล้หมู่บ้านมาถวาย พร้อมสร้างพระอารามให้อยู่จำพรรษา และนำพระบรมสารีริกธาตุใส่กระบอกไม้รวก หรือไม้ไผ่บรรจุผอบทองคำบรรจุในหลุมลึก 22 ศอก พร้อมสร้างขึ้นเป็นวัดชื่อว่า วัดหนองผึ้ง วัดนี้ได้ดำรงค์ต่อมาหลายชั่วอายุคน

วัดพระนอนหนองผึ้ง วัดเก่าแก่ในต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่

วัดพระนอนหนองผึ้ง แห่งนี้เคยตกเป็นวัดร้างระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 1836 มีพระมหาเถระเจ้าพร้อมด้วยเศรษฐีจากเมืองเชียงแสนได้มาบูรณะเจดีย์ขึ้นใหม่ ทั้งยังสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาว 38 ศอกร่วม 19 นิ้วและพระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระเจ้าทันใจ) 1 องค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอกกับ 1 คืบ ต่อมาลุปีพ.ศ. 1838 พระเจ้ามังรายตีนครหริภุญชัยได้ และสร้างเมืองใหม่ทิศเหนือนครหริภุญชัย ชื่อว่านครกุมกามได้รวมเอาวัดนี้เป็นวัดสำคัญในนครกุมการ มีประเพณีนมัสการสรงน้ำปิดทองพระนอนในวันเพ็ญเดือน 8 เหนือทุกปีสืบต่อมา วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ. 2456

หลวงพ่อทันใจ ที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในชุมชน

พระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระเจ้าทันใจ)

 

อีกตำนานในยุคพุทธกาล กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้แม่ระมิงค์ มีพญานาคอาศัยอยู่ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าก็บังเกิดความปีติจึงเนรมิตกายเป็นมนุษย์ เอาน้ำผึ้งใกล้หนองน้ำมาถวาย เมื่อพระองค์รับแล้วก็สำเร็จสีหไสยาสน์ พญานาคทูลขอรอยพระบาท พระพุทธองค์กล่าวว่า สถานที่นี้ไม่มีหินจักเหยียบ ท่านจงก่อรูปเราไว้ยังที่ตถาคตประทับนอนนี้ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย สถานที่นี้ภายหน้าจักได้ชื่อว่า พระนอนหนองผึ้ง ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่กล่าวถึงเรื่องของการสร้างของพระนอนหนองผึ้ง

พระนอนหนองผึ้ง ประดิษฐานภายในวิหาร

อาคารเสนาสนะที่สำคัญของ วัดพระนอนหนองผึ้ง ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วมีปีกนก 2 ข้าง ด้านหน้ามีสิงห์ปูนปั้นอยู่ 1 คู่ ส่วนซุ้มโขงประตูทางเข้าปรากฏลวดลายปูนปั้นในศิลปะพม่า สันนิษฐานว่าอาจได้รับการซ่อมแซมบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 5

โบสถ์เก่าวัดพระนอนหนองผึ้ง

เจดีย์เก่าแก่นับเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในวัดนี้ เป็นเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังที่ได้รับการซ่อมปฏิสังขรณ์แล้ว ส่วนฐานเป็นแบบฐานเขียงตอนล่าง เหนือขึ้นมาเป็นชั้นปัทม์ย่อเก็จรองรับส่วนมาลัยเถาแบบย่อเก็จแปลง องค์ระฆังขนาดเล็ก ไม่มีส่วนบัลลังก์ ปล้องไฉนทรงกรวยคว่ำแต่ละปล้องต้องมีขนาดใหญ่ ต่อเหนือขึ้นไปด้วยชั้นบัวกลุ่มแบบพม่า และส่วนปลียอดประดับฉัตรโลหะ ตามตำนานเล่าว่าเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า 

เจดีย์เก่าแก่ ตามตำนานเล่าว่าบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

คาถาไหว้พระธาตุ

ส่วนภายในวิหารด้านข้างองค์เจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือพระนอน ที่เรียกกันว่า พระนอนหนองผึ้งหรือ พระพุทธรูปป้านปิง พระนอนขนาดใหญ่ ที่หาได้ยากและงดงามที่สุดในล้านนา โดยเฉพาะบริเวณรัดประคดลวดลายพรรณพฤกษาอันโดดเด่น 

พระนอนหนองผึ้ง หรือพระพุทธรูปป้านปิง หรือพระป้านปิง

พระนอนหนองผึ้ง พระพุทธรูปเก่าแก่แห่งล้านนา อายุเกือบ 700 ปี

คำไหว้พระนอน

ตัววิหารสร้างหันหน้าไปทางตะวันออก มีรูปทรงโครงสร้างอิทธิพลศิลปะจากภาคกลาง ที่มีส่วนจั่วหลังคาฐานกว้าง ทำตัวบันไดรูปมกรคายนาคปูนปั้นปิดทองและเขียนสี คล้ายกับที่พบในเขตเมืองเชียงใหม่ทั่วๆไป

 

พระครูพุทธไสยาภิรักษ์ ดร. เจ้าอาวาสวัดพระนอนหนองผึ้ง เล่าว่า ชาวบ้านเรียกพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ว่า พระนอนป้านปิง หมายถึงเป็นพระนอนที่สร้างขวางต้านลำแม่น้ำปิงในอดีต ซึ่งน้ำปิงเดิมที่ไหลผ่านมาหน้าวัดทางด้านตะวันออก ตามแนวถนนต้นยาง เพื่อป้องกันน้ำไหลบ่าเข้ามาท่วมชุมชน และทำให้อำเภอสารภีเป็นที่รู้จักในฐานะเขต ปิงห่าง หรือพื้นที่ที่ลำน้ำปิงเคยไหลผ่าน หากปัจจุบันได้เปลี่ยนทิศทางไปแล้ว

พระครูพุทธไสยาภิรักษ์ ดร. เจ้าอาวาสวัดพระนอนหนองผึ้ง

คำว่า พระนอนป้านปิง มีความหมายตามแบบล้านนาคือ ป้าน แปลว่า ต้าน ,ขวาง เนื่องจากคนในยุคนั้นไม่ต้องการให้แม่น้ำปิงไหลท่วมบ้านเรือนผู้คน หลังจากที่สร้างพระนอนเสร็จ ปรากฏว่าน้ำแม่ปิงก็ไม่เคยไหลท่วมหมู่บ้านอีกเลย นอกจากนี้ยังมีกุมภัณฑ์ 2 ตน สร้างเพื่อดูแลอารักขาพระนอน คือมัคเทศน์และเวชสุวรรณ

กุมภัณฑ์ 2 ตน สร้างเพื่อดูแลอารักขาพระนอน คือมัคเทศน์และเวชสุวรรณ

 

นอกจากนี้ วัดพระนอนหนองผึ้งยังมีพิพิธภัณฑ์ของวัดที่อยู่ด้านหลัง ที่จัดแสดงโบราณวัตถุและพระพุทธรูปที่สามารถสืบย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย ชื่อพิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ วัดพระนอนหนองผึ้ง เดิมชื่อพิพิธภัณฑ์ชัยศีลวิมล (เวียงกุมกามนุรักษ์) จัดแสดงโบราณวัตถุจากเวียงกุมกาม อาทิ พระพิมพ์ดินเผา เศียรพระพุทธรูป เวียงกุมกามนุรักษ์ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยพระครูชัยศีลวิมล  อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารเอกเทศชั้นเดียวตั้งใจสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เนื้อที่จัดแสดงประมาณ 120 ตารางเมตร ภายในเป็นตู้เก่าโบราณจัดแสดงวัตถุประมาณ 5 ตู้ จัดแสดงเศษชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาที่ได้จากเวียงกุมกาม ภายนอกอาคารจัดวางของชิ้นใหญ่ๆ เช่น รูปจำลองเจดีย์ทำด้วยหินทราย เศียรพระพุทธรูป ฐานพระพุทธรูปชิ้นส่วนองค์พระพุทธรูป หินทราย ส่วนหน้าตักมาตรหิน ครกหิน ไหหิน จำพวกไม้แกะสลัก สัตตภัณฑ์รูปพญานาค ไม้แกะสลักประดับประดากระจกจีน นอกจากนั้นยังมีเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ขันโตกไม้ แผ่นทองจังโก เป็นต้น อย่างไรก็ดีต่อมาในปี พ.ศ. 2557 กรมศิลปากรได้เข้ามาช่วยปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงใหม่ ภายใต้โครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์

พิพิธภัณฑ์ชัยศีลพุทธภิรักษ์ วัดพระนอนหนองผึ้ง

ศิลปะล้านนา

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุจากเวียงกุมกาม