ข่าว

'วัดสุทัศนฯ' ตำนานวัดหลวงศูนย์จักรวาล พระวิหารหลวงต้นรัตนโกสินทร์

'วัดสุทัศนฯ' ตำนานวัดหลวงศูนย์จักรวาล พระวิหารหลวงต้นรัตนโกสินทร์

09 ก.ย. 2566

พายลความวิจิตรงดงาม พร้อมตำนานวัดศูนย์กลางจักรวาล ใจกลางพระนคร 'วัดสุทัศนฯ' วัดหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวิหารหลวงขนาดใหญ่ สร้างตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ยลภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างเขียนระดับครู สักการะพระศรีศากยมุนี

วัดหลวงขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพทุธยอดฟ้าจุฬาโลกหน้า รัชกาลที่ 1 พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหารนามว่า 'วัดสุทัศนเทพวรรรามราชวรมหาวิหาร' หรือเรียกสั้นๆว่า 'วัดสุทัศน'

วัดสุทัศนเทพวราราม

รัชสมัยแผ่นดินต้นทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน โดยมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยาประดิษฐานไว้กลางพระนคร ในปี พ.ศ. 2350 ทรงใช้เวลาในการหาพื้นที่แห่งนี้ ที่เป็นจุดศูนย์กลางพระนครนานถึง 25 ปีตั้งแต่ปราบดาภิเษก พระราชทานนามในขณะนั้นว่า วัดมหาสุทธาวาส 

วัดสุทัศนเทพวราราม

หลังจากได้ศูนย์กลางพระนครแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมที่และสร้างเป็นวัด โดยสร้างฐานสร้างพระวิหารขึ้นก่อน จึงอัญเชิญ 'พระศรีศากยมุนี' (พระโต) จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานที่วิหารของวัดแห่งนี้ ด้วยทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่าติดตามขบวนอัญเชิญ 'พระศรีศากยมุนี' มาถึงวัดแห่งนี้ ขึ้นที่ท่าพระ และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนวิหารหลวงซึ่งสร้างไว้แต่เพียงไพทีฐานเท่านั้น

พระศรีศากยมุนี อัญเชิญมาจากสุโขทัย

 

พระวิหารหลวงยังไม่ทันสร้างเสร็จ ก็สิ้นรัชกาลเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสืบสานการก่อสร้าง 'วัดสุทัศนฯ' ต่อจากรัชกาลก่อนโดยทรงก่อพระวิหารหลวงจนใกล้สำเร็จ ทรงจำหลักบานประตูใส่วิหารหลวงด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และบานประตูนี้ได้รับยกย่องว่ามีความสวยงามและทรงคุณค่า แต่เป็นที่น่าเสียดายบานประตูกลางคู่หน้าพระวิหารหลวงแห่งนี้ถูกไฟไหม้เสียหายไป 1 บาน จึงได้ถอดเอาไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้วถอดเอาบานประตูจากด้านหลังพระวิหารหลวงมาใส่ไว้แทนที่ แล้วทำบานประตูเขียนลายปิดทองรดน้ำคู่ใหม่ไปติดแทนที่ด้านหลังพระวิหารหลวง บานประตูทำด้วยไม้สัก สูง 5 เมตร และหนักถึง 1 ตัน แกะสลักลวดลายสลับซับซ้อนอย่างวิจิตร ด้วยเทคนิคขั้นสูง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีส่วนร่วมในการจำหลักด้วยพระองค์เอง ประตูจำหลักจากไม้แผ่นเดียวคว้านผิวลึกลงเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาตวัดเกี่ยวกันคล้ายกำลังเคลื่อนไหว สอดแทรกรูปสรรพสัตว์นานาพันธุ์ ลงรักปิดทองประณีตงดงาม

 

บานประตูไม้แกะสลัก พระวิหารหลวง วัดสุทัศนฯ

 

วัดมหาสุทธาวาส สร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 2390 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชทานนามใหม่ว่า 'วัดสุทัศน์เทพวราราม'

 

พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ มีความกว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร ลักษณะอาคารแบบประเพณีนิยม หลังคาซ้อนชั้น เครื่องลำยองประกอบด้วย ป้านลมเป็นนาคลำยอง หรือนาคสะดุ้ง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เสาย่อมุมไม้สิบสอง มีคันทวยรองรับชายคา หัวเสาประดับบัวแวงแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น หน้าบันพระวิหาร เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนด้านล่างเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค  สอดคล้องกับชื่อวัด วัดสุทัศนเทพวราราม ที่เป็นชื่อเมืองสุทัสสนนคร พระนครหลวงของพระอินทร์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

'วัดสุทัศน' นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องขนาดความใหญ่ของพระวิหารหลวงแล้ว จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระวิหารหลวงยังได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยประเพณี เพราะทรงคุณค่าด้วยฝีมือบรมครูช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนฯ

จิตรกรรมฝาผนังสร้างสรรค์อย่างวิจิตรงดงามจากพื้นถึงเพดาน เขียนเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ เสาสี่เหลี่ยมทั้งแปดต้นเขียนภาพเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐานตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา และมีเรื่องราวของป่าหิมพานต์

จิตรกรรมฝาผนังที่เสา ภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนฯ

ภาพสัตว์หิมพานต์ใน 'วัดสุทัศนฯ' นั้นมีครบทุกวงศ์ เป็นการเขียนให้สอดคล้องกับคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ นอกจากจิตรกรรมฝาผนัง แล้วเหนือกรอบประตูและหน้าต่างวัดสุทัศน์จะมีภาพชุดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่างช่องละ 3 ภาพ รวม 48 ภาพ เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 และเป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

สัตว์หิมพานต์ วัดสุทัศนฯ

 

สัตว์ป่าหิมพานต์

ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐาน 'พระศรีศากยมุนี' พระประธานในพระวิหารหลวงพระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ศิลปะสมัยสุโขทัยอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุด หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร เป็นพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หน้าฐานชุกชี มีช่องประดิษฐานพระสรีรังคารของรัชกาลที่ 8 ตรงผ้าทิพย์ด้านหน้าฐาน ด้านหลังของฐานองค์พระมีสถาปัตยกรรมแผ่นศิลาสลักศิลปะทวารวดี ตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ และ เสด็จทรงโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อายุกว่า1,200 ปี ที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในโลก

ศิลาสลักศิลปะทวารวดี อายุกว่าพันปี

 

ภายในพระวิหารหลวงยังมีสิ่งที่น่าสนใจที่ไม่ควรพลาดชม อาทิ 'พระสุนทรีวาณี' เทพธิดาตามคติในศาสนาพุทธ มีหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาพระธรรมและพระไตรปิฎก พระสุนทรีวาณีมีต้นกำเนิดจากวัดสุทัศน์ โดยเกิดจากภาพนิมิตของสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ฯ รูปที่3 

พระสุทรีวาณี