ข่าว

พิพัฒน์ แจง 400 บาท ไม่ใช่ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' รอข้อสรุปหารือทุกฝ่ายเดือนพ.ยนี้

พิพัฒน์ แจง 400 บาท ไม่ใช่ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' รอข้อสรุปหารือทุกฝ่ายเดือนพ.ยนี้

15 ก.ย. 2566

พิพัฒน์ รับไม่ประกาศขึ้น 'ค่าแรงขั้นต่ำ' 400 บาท ในทันที เร่งหารือทุกฝ่ายหาข้อสรุปอีกครั้งในเดือนพ.ย. ยันค่าจ้าง 400 บาทเป็นค่าจ้างแรงงานที่ UP Skill แล้วไม่ใช่ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' มั่นใจแรงงานไทยส่วนใหญ่ได้เกิน 400 อยู่แล้ว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลัง เข้าหารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะ ในประเด็นการเตรียมผลักดันแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันดีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ในเรื่องที่มีการพูดกันในช่วงหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เกี่ยวกับ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่าในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไปแล้วนั้น ไม่ได้กำหนดและไม่ได้บอกไว้ว่า 'ค่าแรงขั้นต่ำ' จะปรับอย่างไรเหมือนกับตอนหาเสียง แต่ด้วยหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน กับทางสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นั่นก็หมายความว่าเป็นเรื่องของ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและกระทรวงแรงงานคงต้องทำการหารือกัน โดยอนาคตอันใกล้ ที่ใกล้จะถึงสิ้นปีแล้วเราจะก้าวอย่างไรในปีหน้า 

รมว.แรงงานหารือสภาอุตฯ

การหารือวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้เรามีประเด็นที่ต้องหารือทั้งเรื่องในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงานที่ขาดแคลน การUP Skill ฝีมือแรงงานของคนไทยจะเป็นไปอย่างไร ส่วนคำว่าขั้นต่ำในปัจจุบันมีตั้งแต่ 320 กว่าบาท ไปจนถึงสูงสุด 353 บาท ตามพื้นที่ต่างๆในแต่ละจังหวัด ว่าแต่ละจังหวัดใดบ้างที่มีค่าแรงที่ประกาศไปแล้วเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะไม่เคยได้ยินกันว่ามีการประกาศ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' 300 บาทเมื่อปี 2555 หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และฝ่ายลูกจ้างได้มีการขึ้นค่าแรงถึง 10 ครั้งด้วยกันตามความหนักเบาของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้อาจไม่มีการประชาสัมพันธ์แต่ก็มีการขึ้นเงินเดือนให้กับผู้ใช้แรงงานตลอด

รมว.แรงงาน กล่าวว่า แต่วันนี้สิ่งที่เราหารือกัน เพราะปีใหม่สำหรับปี 2567 ทิศทางของพวกเราจะเป็นไปอย่างไร ซึ่งตัวผมกำหนดไม่ได้หรอกครับ ก็ต้องมาหารือกับสภาอุตฯ สภาหอฯ ซึ่งเป็นตัวแทนนายจ้างและตัวแทนผู้ใช้แรงงาน 

พิพัฒน์หารือสภาอุต

 

โดยนายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่มีน้อยลง ในอนาคตสมมุติว่าใน ปี2574 เราจะเข้าสู่ยุคสูงวัยของคนไทยถึง 28% จะทำอย่างไร เราจะมีแนวทางพิจารณาขยายอายุงานในบางภาคส่วนได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านกัน 

พัฒนาฝีมือแรงงาน

ส่วนเรื่องแนวทาง 'ค่าแรงขั้นต่ำ' 400 บาทนั้น รมว.แรงงานกล่าวว่า ต้องหารือกับทุกฝ่าย ว่าคำว่า 400 นั้น จะได้ในภาคส่วนไหน ในแรงงานที่ผ่านการ UP Skill ไปแล้วหรือไม่ แต่เราจะไม่ประกาศเป็นแรงงานขั้นต่ำ เพราะเมื่อประกาศเป็นแรงงานขั้นต่ำนั้น ค่าแรงจะต้องกระโดดจาก 350 บาทขึ้นไปอีก 50 บาทซึ่งคิดเป็นถึง 10 กว่า % ผมก็เชื่อว่าฝ่ายนายจ้างรับภาระไม่ไหว และ SME จะต้องหายไปจากประเทศไทยของเรา เราจึงต้องลงในรายละเอียดว่า คำว่า 400 บาท จะได้ในภาคส่วนไหนบ้าง 'ค่าแรงขั้นต่ำ' ควรขึ้นกี่% ซึ่งคงต้องมีการประกาศเป็ของขวัญปีใหม่ให้ได้

พิพัฒน์หารือสภาอุตฯ

นายพิพัฒน์ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องจ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงานว่า แรงงานที่ไม่มีความรู้ความสามารถข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้านมาประเทศไทย ถ้าเราประกาศค่าแรงขั้นต่ำ เราต้องฝึกคนเหล่านี้อย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี จะมากินค่าแรงขั้นต่ำเท่าคนที่มีความรู้ความสามารถแล้วได้อย่างไร อันนี้ก็ต้องให้ความยุตติธรรมกับผู้ประกอบการด้วย ผมต้องการให้ความกระจ่างว่าทำไมกระทรวงแรงงานไม่ประกาศ 'ค่าแรงขั้นต่ำ' แต่พยายามบอกว่า เราจะให้ 400 บาทในปี 2567 ในแรงงานที่มีความสามารถแล้ว ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการเหมารวม มั่นใจว่าแรงงานไทยปัจจุบันนี้มีค่าแรงเกินกว่า 400 บาทอยู่แล้วโดยส่วนใหญ่