ข่าว

บุคคล - หน่วยงานเพื่อสังคม ตบเท้าเข้ารับ 'รางวัลประชาบดี' ปี 2565 - 2566

บุคคล - หน่วยงานเพื่อสังคม ตบเท้าเข้ารับ 'รางวัลประชาบดี' ปี 2565 - 2566

28 ก.ย. 2566

'วราวุธ' มอบรางวัลประชาบดี ประจำปี 2565 และปี 2566 เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นอุทิศตนเพื่อสังคม หนังสือ 'อยู่กับก๋ง' คว้าสื่อสร้างสรรค์ ปลูกฝังทัศนคติที่ดี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการเป็นประธานพิธีมอบ 'รางวัลประชาบดี' ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 ว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการจัดพิธีมอบ 'รางวัลประชาบดี' มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้ทำความดีอุทิศตนเพื่อสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่นำต้นแบบมาจาก 'พระประชาบดี' เทพผู้เป็นที่พึ่งและสงเคราะห์ประชาชน ด้วยพลังแห่งการให้และแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากสภาวะยากลำบาก ปัจจุบัน มีผู้ได้รับ 'รางวัลประชาบดี' แล้วกว่า 1,010 คน 

วราวุธ มอบรางวัลประชาบดี

รมว.พม. กล่าวเพิ่มเติมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 'รางวัลประชาบดี' ที่ได้มอบให้ จะเป็นกำลังใจ และสามารถขยายผลไปสู่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า วันนี้ การทำความดีของท่านมีคนเห็น และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้กับสังคมไทยเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภาครัฐจะไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดนั้น คือหัวใจสำคัญในการช่วยคนทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ เพศ ทุกๆ วัย และทุกๆ สถานะ ดังนั้น วันนี้ กระทรวง พม. ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้รับ 'รางวัลประชาบดี' และหวังว่าในปีต่อๆไป เราจะมีผู้ได้รับรางวัลเพิ่มขึ้น และหลากหลายสาขามากขึ้น สำหรับการเข้ามาช่วยกันทำงาน เพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น

สำหรับปีนี้ มีผู้รับ 'รางวัลประชาบดี' ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวมจำนวนทั้งสิ้น 87 คน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. ประเภทบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 19 ราย อาทิ นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ผู้ริเริ่มโครงการ Centara Academy โดยเปิดสอนด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน ,นางสาวเรณู ภาวะดี ผู้มีความมุ่งมั่นในงานจิตอาสา เป็นกระบอกเสียงและอุทิศตนเพื่อผู้ประสบความเดือดร้อน , นายแพทย์ศุภชัย โรจน์ขจรนภาลัย ผู้จัดการโครงการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง และ นายสายชล พันพืช อาสามูลนิธิกู้ภัยสว่างกำแพงเพชรธรรมสถาน ผู้เสียสละตนเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก คนเร่ร่อน และกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง  
  2. ประเภทองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 16 ราย อาทิ หอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างงาน สร้างอาชีพแก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก จนเกิดการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและพึ่งพาตนเองได้ , สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายเชียงราย ส่งเสริมอาชีพคนพิการให้มีงานทำ มีรายได้ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว , แว่นท็อปเจริญ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาด้านสายตาทั่วประเทศ และ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการรักษาและระบบการให้ข้อมูลการรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

รางวัลประชาบดี ปี 2565-2566

         3. ประเภทสื่อสร้างสรรค์ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 23 ราย อาทิ รายการวันใหม่วาไรตี้ ช่วงร้องทุก(ข์) ลงป้ายนี้ นำเสนอการช่วยเหลือประชาชนและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งประสานช่วยแก้ปัญหาสังคม , รายการ น.ช. ไม่ทิ้งกัน สร้างกำลังใจแก่อดีตเพื่อนนักโทษให้ดำเนินชีวิตในทางที่สุจริต , สถานีเฟซบุ๊กไลฟ์ & ศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ สื่ออาสาประชาชน และ หนังสือเรื่อง 'อยู่กับก๋ง' โดยหยก บูรพา รายการที่สอดแทรกคำสอนที่มีคุณค่า ปลูกฝังทัศนคติที่ดีแก่คนทุกช่วงวัย  

           4.ประเภทต้นแบบคนสู้ชีวิต ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 29 ราย อาทิ นายธนเดช โพธิ์เงิน คนพิการจิตอาสา สู้ชีวิต อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ที่มีความพิการเช่นเดียวกัน , นายเอนก แก้วผา ผู้เคยเดินทางผิดและเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยอุทิศตนช่วยคนเปราะบาง , นายณรงค์ฤทธิ์ ชาวบางมอญ ใช้การพูดสร้างกำลังใจแก่ผู้ต้องขังและใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวซื้ออาหารเพื่อมอบให้แก่เด็ก คนเร่ร่อน และคนไร้ที่พึ่ง และ นางสาวสุวรรณดี อ่ำศรีสุข ผู้ถือคติ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญู ลุยช่วยเด็กกำพร้าและผู้มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ

 

พิธีแต่งงานประชาบดี

สำหรับ 'พระประชาบดี' ​​​​​​​เทพผู้เป็นที่พึ่งและสงเคราะห์ประชาชน ด้วยพลังแห่งการให้และแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากสภาวะยากลำบาก กระทรวง พม. จึงได้นำชื่อ ประชาบดี มาเป็นชื่อรางวัลแห่งเกียรติยศ เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นแก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก และผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากที่ประพฤติตนดีเด่น เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ที่ดูแลช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก อีกทั้งส่งเสริมเจตคติเชิงบวกในการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก