'นายกฯ' ถก ผบ.ตร. จี้ระบบเตือนภัย รับมือเหตุร้าย - สตช. สกัดนำเข้า Blank Gun
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี กับ ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฯฝากให้ดูแลเรื่องการทำระบบเตือนภัย รับมือกรณีเหตุร้าย ส่วนการซื้อขาย ครอบครองอาวุธปืน กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้าไปดูแล ด้าน สตช. ประกาศ กวาดล้างค้าอาวุธ ผนึกกรมศุลกากร
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาระสำคัญคือการให้ความสำคัญ กับเรื่อง emergency alert system หรือ ระบบเตือนภัย รวมทั้งการ
เข้มงวดเรื่องการครอบครองอาวุธปืน ยกระดับให้ครบวงจร รวมทั้งเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยสถานที่สำคัญต้องมีการยกระดับขึ้น
กรณีการยกระดับการครอบครองปืน การซื้อขายจะต้องไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืน เพื่อให้สามารถควบคุมได้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำกับดูแล โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการ เนื่องจากผู้มีอำนาจสามารถสั่งการได้ทันที และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว
"นายกรัฐมนตรีรู้สึกเสียใจ ที่เสียจังหวะในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในระบบฟรีวีซ่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวกำลังจะเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยก็เข้าใจ " โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
.
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินเครื่องกวาดล้างค้าอาวุธ
.
พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(โฆษก ตร.) เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต่อการกำหนดมาตรการในการป้องกันเหตุกราดยิง หลังเกิดที่ห้างสยามพารากอน โดยผบ.ตร.ได้สั่งการ และมีคำสั่งให้ดำเนินการ ดังนี้
1) ให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน อาวุธสงคราม และเครื่องกระสุนอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง โดยให้รายงานผลการปฏิบัติทุกๆ 15 วัน ในกรณีที่มีการจับกุมให้สืบสวนขยายผล ดำเนินการผู้เกี่ยวข้อง
2) ประสานความร่วมมือ บูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า จำหน่าย รวมทั้งการออกใบอนุญาตอาวุธปืน ที่ยังพบว่ามีสถิติการถือครองอาวุธปืนและใบอนุญาตโดยง่าย โดยเฉพาะประเด็นแบลงค์กัน (Blank Gun) ซึ่งสามารถนำเข้าได้ พบสถิตินำเข้ากว่าหมื่นกระบอก จะได้ร่วมกับกรมศุลกากรชะลอ หรืองดการนำเข้า เพื่อไม่ให้คนร้าย หรือกลุ่มมิจฉาชีพนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธปืนผิดกฎหมาย นอกจากนี้ หากพบว่ากฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง เกี่ยวกับอาวุธปืน ที่ยังล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ ให้ร่วมกันพิจารณาปรับปรุง แก้ไข เพื่อควบคุมการใช้อาวุธปืนในการกระทำผิดทุกรูปแบบ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
3) ให้ฝ่ายสืบสวนทุกหน่วยทั่วประเทศ จัดทำและตรวจสอบข้อมูลการจำหน่ายอาวุธปืนในพื้นที่ และให้ บช.สอท. เป็นหน่วยรับผิดชอบในการตัดวงจรการจำหน่ายและการสืบสวนขยายผล การนำซื้อขายอาวุธออนไลน์ การนำแบลงค์กัน (Blank Gun) ไปดัดแปลงเป็นอาวุธ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เพื่อตัดองค์ประกอบในการกระทำความผิด
4) จัดชุดวิทยากร ต่อยอดการฝึกอบรมการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ฝึกปฏิบัติในการรับมือกับสถานการณ์ฯ ในพื้นที่โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลและพื้นที่ต่างๆ (Soft Target)
5) ขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็ก เยาวชน บุตรหลาน เกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนหรือความรุนแรงต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ หรือเหตุความรุนแรงต่างๆในสังคม