ข่าว

เลขา สทนช. ร่ายยาว  โต้ข้อหา บริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาด -117 ล้านไร่  อ่วม

เลขา สทนช. ร่ายยาว โต้ข้อหา บริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาด -117 ล้านไร่ อ่วม

09 ต.ค. 2566

เลขาธิการ "สทนช." อธิบายยกใหญ่  หลังมีประเด็นคนบนโลกออนไลน์ วิพากษ์ สทนช. คาบเกี่ยวยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯที่ผิดพลาด ทำให้พื้นที่เกษตรนอกเขตประทาน 117 ล้านไร่ รับผลกระทบ  ดร.สุรสีห์ ย้ำ ภารกิจ แก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศในมิติต่าง ๆ มุ่งเกิดความยั่งยืน

 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)   ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี   เปิดเผยว่า     "สทนช." จะครบ 6 ปี ของการก่อตั้ง ในวันที่  25 ตุลาคม  ที่จะถึงนี้  การตั้ง สทนช.ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเปลี่ยน แปลงไปในทิศทางดีขึ้น  มีระบบมากขึ้น สามารถลดการทำงานซ้ำซ้อนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ  ได้ทันต่อสถานการณ์     โดยมี แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี     (พ.ศ. 2561-2580 )  และ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นเป้าหมายร่วมที่ต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ 

 

 

เลขา สทนช. ร่ายยาว  โต้ข้อหา บริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาด -117 ล้านไร่  อ่วม

 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

.

 

อย่างไรก็ตามการที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์  สนทช. บนสื่อสังคมออนไลน์  โดยมีหัวข้อและเนื้อความดังนี้   "บทบาท สทนช. ไม่ปรับเปลี่ยน 117 ล้านไร่ แล้งเหมือนเดิม" ระบุว่า ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ผิดพลาด พื้นที่เกษตรถูกจำกัด บทบาท สทนช. เป็นเพียงสำนักงานเลขานุการของ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)  และยังมีข้อสังเกตถึงการนำระบบ Thai Water Plan (TWP) มาใช้ของ สทนช.เป็นการ รวบอำนาจการตัดสินใจโครงการและแผนงานด้านทรัพยากรน้ำ   ทำให้การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ไม่สามารถดำเนินการได้ และเสนอให้มีการแก้ไขแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี เพราะเป็นแผนที่ทำให้พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน 117 ล้านไร่ มีผลผลิตต่ำ มีรายได้น้อย   เกษตรกรนับแสนครัวเรือนยากจน  ต้องทนต่อภาวะขาดแคลนน้ำ 

 

 

 

 

.

บทบาทสทนช.กรองแผนงานทุกภาคส่วน

.

 

การโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว  อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ โดยความจริงแล้วภารกิจหลักของ สทนช. ในการทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ของ กนช. ที่ระบุไว้นั้นเป็นหนึ่งในอีกหลายภารกิจของ สทนช. ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดย สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เสนอ กนช.  , สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา และทำหน้าที่ กลั่นกรองความเหมาะสมของแผนงานโครงการด้านน้ำจากทุกหน่วยงาน

 

 

 

 

รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจการแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศในมิติต่าง ๆ ให้เกิดความยั่งยืน ตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์ชาติ   นอกจากนี้สทนช. ยังมีบทบาทและภารกิจในการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอีกหลากหลายด้าน  เช่น การวิเคราะห์ ประมวลผล และคาดการณ์สถานการณ์น้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนรับมือหากเกิดภัยพิบัติด้านน้ำ ตลอดจนการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายลำดับรอง ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

 

 

 


สะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง รวมทั้งยังมีบทบาทในการประสานความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำจากแม่น้ำระหว่างประเทศร่วมกัน  พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเสริมความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศอีกด้วย  ประเด็นที่มีข้อสังเกตถึงการนำระบบ Thai Water Plan (TWP) มาใช้ นั้น ไม่ใช่รวบอำนาจการตัดสินใจตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการให้หน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วย ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค

 

 

เลขา สทนช. ร่ายยาว  โต้ข้อหา บริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาด -117 ล้านไร่  อ่วม

 

ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถเสนอแผนปฏิบัติการด้านน้ำของตัวเองเข้ามาได้ ด้วยระบบที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเริ่มใช้งานในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งระบบนี้จะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านน้ำสามารถเข้าถึงได้ โดยมีกระบวน การพิจารณาจากคณะกรรมการในพื้นที่   ได้แก่ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ก่อนจะส่งต่อให้ สทนช. ในฐานะผู้พิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศ

 

.

ทุกแผนงานที่เสนอมาสอดคล้องกับแผนแม่บท

.

 

สามารถตรวจสอบได้ว่า แผนงานโครงการที่เสนอมาสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำ 20 ปีหรือไม่ ซ้ำซ้อน ทับซ้อน หรือเชื่อมโยงกันหรือไม่ มีความคืบหน้าอย่างไร ทำให้สามารถจัดทำแผนงานโครงการได้อย่างเป็นระบบ และที่สำคัญประชาชนทั่วไปสามารถติดตามตรวจสอบหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และความคืบหน้าของโครงการด้านทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย  ซึ่ง สทนช. ได้มีการชี้แจงและสร้างความเข้าใจในการเสนอแผนงานให้กับหน่วยงานด้านน้ำและ อปท. มาอย่างต่อเนื่อง  

 

 

 

 

เขา กล่าวว่า ระบบ TWP ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางแผนงานด้านน้ำของ อปท. ในทางตรงข้าม กลับช่วยให้ อปท. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 7,850 แห่ง รวมถึงหน่วยงานด้านน้ำ สามารถเสนอแผนงานโครงการแก้ปัญหาด้านน้ำที่ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่ง อปท. หลายแห่งต้องการดำเนินการ หากสามารถสร้างประโยชน์และแก้ปัญหาด้านน้ำให้กับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

มีความสอดคล้องกับแผนเม่บทน้ำ 20 ปี เป็นไปตามภารกิจถ่ายโอนฯ และไม่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น ๆ สทนช. จะพิจารณาเสนอของบประมาณ เพื่อให้ดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าไม่ทันในปีงบประมาณปัจจุบัน จะมีการเสนอในปีงบประมาณถัดไป หากหน่วยงานยังยืนยันที่จะดำเนินงานตามแผนงานที่เสนอมา   การดำเนินการเกี่ยวกับฝายแกนดินซีเมนต์นั้น จากการประชุมคณะกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

 

 

 

สทนช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ ภายใต้อนุกรรมการที่ กนช. แต่งตั้ง ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผังน้ำ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำโดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ ให้สอดคล้องกับหลักวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ระหว่างจัดทำคู่มือฝายแกนดินซีเมนต์ มีกำหนดเสนอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผังน้ำ พิจารณาในเดือน พ.ย.  นี้   และเสนอให้ กนช. พิจารณาตามลำดับต่อไป 

 

.

เปิดทางภาคประชาชน -ท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วม

.

 

สทนช.มีการผลักดันให้ภาคประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำเกิดความครอบคลุมรอบด้าน รองรับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ที่สอดคล้องกับการปรับปรุงทบทวนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580)  โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่อยู่นอกเขตชลประทาน มีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน (รวมถึงน้ำบาดาล)

 

 

 

โดยเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กประเภทต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานหลักในการดำเนินการ คือ อปท.  โดยมีมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน  ไม่ว่าจะเป็น กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน มูลนิธิปิดทองหลังพระ กองทัพบก เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายปี 2566-80  คือ การเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำฤดูแล้ง 1,050 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งฝายแกนดินซีเมนต์เป็นลักษณะโครงการประเภทหนึ่ง ในการขับเคลื่อนตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี  

 

.

 ปี 2580  ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค

.


 " หาก อปท. ต่าง ๆ มีความพร้อมในการขอใช้พื้นที่ การมีส่วนร่วมและความพร้อมของแบบก่อสร้าง สามารถเสนอโครงการผ่านระบบ TWP เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณได้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการดำเนินการก่อ สร้างฝายแกนดินซีเมนต์ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กประเภทอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ เป็นงบประมาณเชิงพื้นที่ (Area) ที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรให้แต่ละท้องถิ่นต่อไป  การดำเนินงานตามภารกิจของ สทนช.เพื่อที่จะขับเคลื่อนงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี  ที่ระบุไว้ว่า   "เมื่อสิ้นสุดแผนแม่บทฯในปี 2580  ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"    ดร.สุรสีห์   ระบุ

 

เลขา สทนช. ร่ายยาว  โต้ข้อหา บริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาด -117 ล้านไร่  อ่วม