รองอธิบดีกรมชลประทาน เกาะติดสถานการณ์น้ำ-อุตุฯเตือนทุกภาคเจอฝนหนัก
รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยการกับเก็บน้ำของอ่างขนาดใหญ่ ยังมีความพร้อมต่อการรับน้ำ กรมอุตุฯส่งสัญญาณทั่วทุกภาคเตรียมรับมือฝนตกหนัก
ที่กรมชลประทาน ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 55,286 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 21,154 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 14,823 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 10,048 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงสั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการจัดจราจรน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคาร อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง