ข่าว

ครั้งแรกในหลายสิบปี กรมศิลป์สร้าง 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง

ครั้งแรกในหลายสิบปี กรมศิลป์สร้าง 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง

18 ต.ค. 2566

กรมศิลป์ จัดสร้าง 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง ในโอกาสครบรอบ 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร ครั้งแรกในรอบ หลายสิบปี พิเศษทุกองค์บรรจุไม้ช่อฟ้าเดิมของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และยังเป็นครั้งแรกที่มีการพุทธาภิเษกภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวการจัดสร้าง 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง ว่า ในโอกาสครบรอบ 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร กรมศิลปากร

ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ เพื่อหารายได้นำเข้ากองทุนโบราณคดี ใช้ในการบูรณะโบราณสถาน และกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ การจัด สร้างครั้งนี้ ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้วยฝีมืออันงดงาม ถือเป็นการจัดสร้างครั้งแรก และจัดสร้างจำนวนจำกัด

กรมศิลปากรสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวด้วยว่า ความพิเศษคือของ 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง คือใต้ฐานของ 'พระพุทธสิหิงค์' จำลองทุกองค์ได้บรรจุไม้ช่อฟ้าเดิมซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และเทียนชัยเข้าพรรษา ซึ่งถวายองค์พระพุทธสิหิงค์เพื่อเป็นนิมิตแห่งความสว่างไสวของชีวิต

พระพุทธสิหิงค์จำลอง

สำหรับพิธีมหาพุทธาภิเษก 'พระพุทธสิหิงค์' จำลอง จะมีการทำพิธีภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พระนคร ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำพิธีพุทธาภิเษกภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ โดยมีพระเถรานุเถระ ผู้ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน จำนวน 9 รูป อาทิ พระอาจารย์วราห์ ปุญญวโร วัดโพธิ์ทอง , หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ อติสกโข เจ้าอาวาสวัดประดู่ , หลวงพ่อสมชาย ฉันทสโร วัดปริวาสราชสงคราม , หลวงพ่อชำนาญ อุตฺตมปญฺโญ วัดชินวรารามวรวิหาร เป็นต้น ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.49 น. เป็นวันมหาสิทธิโชค และตรงกับราชาแห่งฤกษ์ โดยจะอัญเชิญวัตถุมงคลที่จัดสร้างทั้งหมดไว้ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นเวลา 1 ราตรี เพื่อซึมซับความศักดิ์สิทธิ์ จากองค์พระพุทธสิหิงค์ และถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง

เหรียญพระพุทธสิงหิงค์จำลอง

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจสั่งจอง 'พระพุทธสิหิงค์' พระกริ่งพระพุทธสิหิงค์ และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มคลังและพัสดุ สำนักบริหารกลาง ชั้น 3 อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ โทร. 021266559 หรือ facebook page พระพิฆเนศวร 108 ปี กรมศิลปากร 

 

สำหรับพระพุทธสิหิงค์ ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญลำดับที่ 3 ของ ประเทศไทยรองจากพระแก้วมรกต และพระพุทธชินราช กล่าวกันว่า พระพุทธสิงหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางสมาธิ หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง เป็นพระพุทธรูปประจำเทศกาลสงกรานต์ ที่ทุกปีจะมีการอัญเชิญรูปจำลองของพระองค์มาให้ประชาชนสรงน้ำเป็นประจำ เพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินตลอดทั้งปี