ครม.ยกความปลอดภัย ' รถรับ-ส่งนักเรียน' วาระแห่งชาติ - 3 กระทรวง ทำแผนรองรับ
ครม.วันนี้ ความปลอดภัย "รถรับ-ส่งนักเรียน" เข้าข่ายวาระแห่งชาติ มอบ กระทรวงมหาดไทย ทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด , กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้โรงเรียน ดูแลและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริหารจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนอัจฉริยะต้นแบบ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ( อังคารที่ 7 พ.ย. ) มีการพิจารณาเรื่อง มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน และได้กำหนดแนวทาง เรื่อง มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนของแต่ละจังหวัด เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนความปลอดภัยและแก้ไขกฏระเบียบ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบจัดการรถรับ-ส่งนักเรียน ให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัย รถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแล และให้คำแนะนำการจัดทำมาตรการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน และความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน เฝ้าระวังความเสี่ยง เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ สนับสนุนการออกมาตรการนโยบายระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของเครือข่าย
โดยกำหนดให้มีโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อบูรณาการการจัดทำแผนความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัด สนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการให้คำปรึกษาเชิงวิชาการ กำหนดให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัดมีคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัดและมีการกำหนดว่ระการรายงานต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้ประกอบการ
.
บรรจุแผนงานให้เป็นภารกิจหลักสถานศึกษา
.
กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้โรงเรียนมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลรถรับ-ส่งนักเรียน กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานเรื่องความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียนโดยเฉพาะรถรับ-ส่งนักเรียน และจัดทำทะเบียนข้อมูลรถรับ-ส่งนักเรียนแต่ละคัน เช่น ประวัติผู้ขับรถรับ-ส่งนักเรียนเลขทะเบียนรถ เส้นทางการเดินรถ รายชื่อนักเรียนประจำรถ และชื่อผู้ควบคุมรถเพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลรถรับ-ส่งนักเรียนที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างขนส่งจังหวัด โรงเรียน และผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียน
การกำหนด รูปแบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ กำหนดตัวชี้วัดและการประเมินโรงเรียนเกี่ยวกับการเดินทางไปกลับโรงเรียนที่ปลอดภัย และจัดทำคู่มือหรือแผนการดำเนินงานด้านการจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนพร้อมทั้งทบทวนและแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดให้โรงเรียน มีหน้าที่ดูแลและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย และบรรจุแผนงานจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโรงเรียนหรือสถานศึกษา การประเมินและติดตามผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
ด้านนโยบาย เพิ่มมาตรการกำกับกรณีโรงเรียนหรือสถานศึกษาละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดมาตรการให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ และกำกับดูแลมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน การออกหนังสือรับรองการเป็นรถรับ-ส่งนักเรียน และการจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนตลอดภาคการศึกษา และกำหนดให้โรงเรียนสร้างเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียน หรือด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม 3 ภาคีระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชมรมผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่
.
สร้างองค์ความรู้และหลักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
.
พัฒนาหลักสูตรชุดความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการระบบรถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษาครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ขับรถรับ-ส่งนักเรียน ผู้ปกครองและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีองค์ความรู้แ ละหลักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับผิดชอบดูแลการจัดการความปลอดภัย ในการเดินทางของนักเรียนด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นค่าเดินทาง (รถรับ-ส่งนักเรียน) ให้กับนักเรียนยากไร้ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคนให้มีมาตรฐานและคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเห็นควรให้โรงเรียนในสังกัด ศธ. อปท. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและ กรุงเทพมหานครสามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงเรียนสำหรับเด็กยากไร้ได้จากสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา
กำหนดให้ความปลอดภัยของนักเรียนในการเดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นวาระของ ศธ. และของทุกโรงเรียน โดยให้ผู้บริหารโรงเรียนเป็นจุดจัดการเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนและแต่งตั้งครูงานกิจการนักเรียน ทำหน้าที่เป็นครูที่ดูแลรถรับ-ส่งนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 คน และกำหนดให้รูปแบบเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นภารกิจหนึ่งของงานกิจการนักเรียน
.
กระทรวงดิจิทัลฯร่วมขับเคลื่อน "รถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย "
.
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมมือกับ ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในด้านความปลอดภัยเชิงป้องกันในการเดินทางโดยรถรับ-ส่งนักเรียนและสนับสนุนให้เกิดระบบบริหารจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนอัจฉริยะต้นแบบ ที่เหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน ผู้ปกครอง พร้อมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการเชื่อมต่อการบูรณาการของการรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่ที่สำคัญตามโครงการ "รถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย (Smart School Bus)
หากระบบ Smart School Bus มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนจะทำให้เกิดระบบ Big Data Platform และ Smart School Bus Intelligent Operation Center ในแต่ละพื้นที่ โดยให้กำกับ, ติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ Smart School Bus และขับเคลื่อนโครงการให้สัมฤทธิ์ผล เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาส ามารถนำมาใช้เป็นมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนได้มีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถ