พิพิธภัณฑ์ฯ สหรัฐอเมริกา เตรียมคืน 2 'โบราณวัตถุ' ล้ำค่า กลับคืนสู่ประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งหนังสือแจ้งขอคืน 'โบราณวัตถุ' ล้ำค่า ประติมากรรมพระศิวะสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 และประติมากรรมสตรี คืนสู่ประเทศไทย หลังจรวจสอบพบว่ามาจากการครอบครองที่ผิดกฎหมาย
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่านายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร รายงานเรื่องนายแมกซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา มอบหมายให้นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร ส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืน โบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการให้แก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา
การส่งคืน โบราณวัตถุ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ทำการตรวจสอบรายการ โบราณวัตถุ ที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้า โบราณวัตถุ โดยผิดกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2562 แล้วพบว่ามีโบราณวัตถุ ประติมากรรมสำริด จากประเทศไทย คือประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy และยังพบ โบราณวัตถุ ที่มีที่มาเกี่ยวพันกับนางดอรีส วีเนอร์ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กแจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. 2564 เป็นโบราณวัตถุประติมากรรมสตรีจำนวน 1 รายการ คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันจึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ และประสานแจ้งวัตถุประสงค์การส่งคืนแก่ประเทศไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้โดยจะประสานงานและทำพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์กต่อไป
สำหรับ โบราณวัตถุ ที่จะได้รับกลับคืนครั้งนี้ ประกอบด้วย ประติมากรรมพระศิวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก ประติมากรรมนี้สูงถึง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง ส่วนประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริดมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง
นายเสริมศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงการส่งคืน โบราณวัตถุ แก่ประเทศไทยหลังจากตรวจสอบพบว่ามีที่มาจากผู้ครอบครองเดิมที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย ว่าเป็นการแสดงถึงจริยธรรมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ในการให้ความสำคัญกับการครอบครอง โบราณวัตถุ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการ โบราณวัตถุ ร่วมกันที่ผ่านมา ตนในนามของกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย จึงขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ในการแจ้งส่งมอบโบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศไทยในครั้งนี้ และจะได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบข่าวดีดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้รมว.วธ. ยังได้กล่าวถึงนโยบายการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยว่า เป็นภารกิจที่สำคัญ ที่ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโบราณวัตถุ จากเมืองโบราณศรีเทพที่อยู่ในขั้นตอนการประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงาน ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Homeland Security Investigations (HSI) กรุงเทพฯ โดยจะดำเนินการตามช่องทางทางการทูตอย่างถูกต้องและเป็นไปด้วยความร่วมมือด้วยมิตรภาพของสองประเทศ
สำหรับ ปะติมากรรมพระศิวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว สูง 129 ซม. หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง รูปแบบคล้ายประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะหรือทวารบาลจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ส่วนปะติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูงในราชสำนัก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว สูง 43 ซม. หล่อด้วยสำริด
ประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตงานศิลปกรรมสำริดที่มีคุณภาพในช่วงเวลาดังกล่าว