ข่าว

เปิดภาพ 'เสือโคร่ง' 3 แม่ลูก ครั้งแรกของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

เปิดภาพ 'เสือโคร่ง' 3 แม่ลูก ครั้งแรกของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

19 ธ.ค. 2566

ติดตั้งกล้องสำเร็จ เปิดภาพ 'เสือโคร่ง' ครอบครัวใหม่ 3 แม่ลูก ครั้งแรก ของ เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ข่าวดี พบ ประชากรเสือโคร่งในพื้นที่สำรวจ มีแนวโน้มสูงขึ้น

นับเป็นภาพที่หาชมได้ยาก และเรียกได้ว่า สำหรับภาพของ “เสือโคร่ง” 3 แม่ลูก ที่กล้องจับภาพไว้ได้เป็นครั้งแรก ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หลังจากมีการติดตั้งกล้องไว้ ตั้งแต่ต้นปี 2566

เสือโคร่ง

โดยเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพ “เสือโคร่ง” จำนวน 3 ตัว ซึ่งพบว่าเป็นเสือโคร่ง 3 แม่ลูก ซึ่งการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ เป็นการดำเนินการร่วมกัน ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ องค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อติดตามประชากรเสือโคร่งระยะยาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 

 

 

โดยจุดติดตั้งกล้องดังกล่าว เริ่มทำการติดตั้งมาตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน และจากการตรวจสอบข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ พบเสือโคร่งถูกถ่ายภาพได้ จำนวน 3 ตัว โดยเป็นเพศเมียโตเต็มวัย 1 ตัว ซึ่งมีในฐานข้อมูลเสือโคร่ง รหัส TWT128F ซึ่งเป็นแม่เสือโคร่ง และลูกเสือจำนวน 2 ตัว (ให้รหัสไว้ว่า SLT_Unknown003 และ SLT_Unknown004)

ภาพเสือโคร่ง

ทั้งนี้ ก่อนเหตุการณ์ เสือโคร่ง TWT128F ถูกถ่ายภาพไว้ได้เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 เวลา 10:03 น. และ 8 ส.ค. 2566 เวลา 23:38 น. นอกจากนี้ จุดตั้งกล้องดังกล่าว ยังเคยถ่ายภาพเสือโคร่งโตเต็มวัยเพศผู้ รหัส HKT270M จำนวน 3 เหตุการณ์ ได้แก่ วันที่ 20 เม.ย. 2566 เวลา 18:04 น. วันที่ 6 ก.ค. 2566 เวลา 03:00 น. และ 13 มิ.ย. 2566 เวลา 03:11 น.

 

 

สำหรับเหตุการณ์นี้ นับเป็นครั้งแรกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ที่มีภาพลูกเสือ ซึ่งถูกถ่ายภาพได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของสัตว์เหยื่อ และสภาพพื้นที่ป่าที่เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของเสือโคร่ง

ภาพเสือโคร่ง

นอกจากนี้ จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติของทีมสำรวจ กว่า 420 จุด ใน 7 พื้นที่อนุรักษ์ของกลุ่มป่าทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก เพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่งและสัตว์ตระกูลแมวป่า รวมถึงสัตว์เหยื่อ พบว่าประชากรเสือโคร่งในพื้นที่สำรวจ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสือโคร่งที่ถูกถ่ายภาพได้ครั้งแรกในพื้นที่นี้ นับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ ในความพยายามที่จะส่งเสริมให้ผืนป่าแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้ในอนาคต โดยสัตว์ตระกูลแมวป่า ที่ถูกสำรวจพบในพื้นที่มีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ แมวลายหินอ่อน เสือไฟ และแมวดาว