ข่าว

ร้อง ศาลฎีกานักการเมือง ขอไต่สวนบังคับคดีปม ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำ

ร้อง ศาลฎีกานักการเมือง ขอไต่สวนบังคับคดีปม ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำ

19 ธ.ค. 2566

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ แพ็คคู่ ทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ ร่วมยื่นคะร้องศาลฎีกานักการเมือง ขอไต่สวนบังคับคดีปม ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำ ชี้ กรมคุกส่งตัว ขัดกฏกระทรวงยุติธรรมและระเบียบปี 63

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก และทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ ได้ร่วมยื่นคำร้องต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ไต่สวนในคดีที่ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินถึงที่สุดแล้ว

 

ร้อง ศาลฎีกานักการเมือง ขอไต่สวนบังคับคดีปม ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำ

นายชาญชัย กล่าวว่าคดีดังกล่าวคือ

1. คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นโจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ซึ่งเป็นคดี ให้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนม่า 4,000 ล้านบาท  ศาลฯพิพากษาว่าจำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา152(เดิม) ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ไม่รอลงอาญา

 

 

2. คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ระหว่าง คตส. โดย ปปช. เป็นโจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลย ซึ่งเป็นคดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลมีคำพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้ติดคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

 

 

ชาญชัย และทนายนกเขา  ยื่นร้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3. คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.)โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายทักษิณ จำเลย ในคดี ให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม สั่งพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ปปช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรค 1(2) และมาตรา 122 วรรค 1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152(เดิม) ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 5 ปี นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในก่อนหน้านี้ โดยศาลได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละคดีแล้วโดยจำเลยหลบหนีไปต่างประเทศเวลา 16 ปี

 

 

แต่กลับปรากฏว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ครอบครัวของจำเลย ได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับการอภัยโทษ ให้ลดโทษจำคุกจากโทษจำ 8 ปี ให้เหลือจำคุก 1 ปี ซึ่งเป็นพระมหากรุณาที่คุณแก่จำเลยและครอบครัวแล้ว แต่เมื่อจำเลยเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กลับไม่ได้รับโทษจำคุกจริง โดยมีการอ้างเหตุว่าป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในรพ.ตำรวจ ชั้น 14 โดยกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นการขัดต่อกฏกระทรวงยุติธรรมและระเบียบปี พ.ศ.2563 อีกด้วย

 

 

ดังนั้น จึงได้ทำคำร้องนี้ ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวน กรณีมีบุคคล คณะบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ ร่วมกันกระทำให้ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฯ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2562 หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อที่ 62 ที่ระบุว่า เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดีให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อยสามคนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว

 

 

ทั้งนี้ ทั้ง 3 คดีนี้ ยังอยู่ในอำนาจของศาล ตามคำพิพากษาของศาลอีกทั้งตนเคยทำหน้าที่เป็น อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส.ส.ที่ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอดจึงขอใช้สิทธิให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2560 มาตรา 41 (3) ที่ระบุให้สิทธิ์ในการฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดชอบเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

 

ร้อง ศาลฎีกานักการเมือง ขอไต่สวนบังคับคดีปม ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำ