เช็กเลย 2 อาการหลัก 'โควิด JN.1' แพร่เร็ว (อาจ) ไม่ได้อยู่แค่ปอด
รู้จัก 'โควิด JN.1' สายพันธุ์หลักล่าสุดใน ประเทศไทย แพร่เร็ว เช็ก 2 'อาการโควิด JN.1' ที่อาจไม่แรง แต่ไม่ได้อยู่แค่ ปอด
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่หมดไป และยังมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังเทศกาลปีใหม่ 2567 ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2567 พบผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลจำนวน 664 ราย เฉลี่ย 95 รายต่อวัน สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่รายงาน 70 รายต่อวัน โดยพบว่า “โควิด JN.1” เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย เรามาทำความรู้จักกับ โควิดสายพันธุ์ JN.1 รวมทั้ง “อาการโควิด JN.1” เป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน
รู้จัก “โควิด JN.1”
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โควิด JN.1 พัฒนาต่อเนื่องมาจากสายพันธุ์ย่อย “โอไมครอน” อย่าง “BA.2.86” และพบว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2566 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ของการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก และในที่สุด การคาดการณ์ว่า โควิด JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย
โควิด JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pirola ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่าย และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด
จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่า สายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นโควิด โอไมครอน JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา
โควิด JN.1 ไม่แรงแต่เร็ว
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยผลตรวจวัดจำนวนและสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในน้ำเสีย (ที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ) จากแหล่งชุมชน บ่งชี้ว่า สหรัฐอเมริกาใกล้ถึงจุดสูงสุดของคลื่นการระบาดใหญ่ระลอกที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดมา ขณะนี้ประเมินว่า มีชาวอเมริกันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 คนในทุกๆ 23 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน โดยมีโอไมครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก
การระบาดใหญ่ระลอกแรกเกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (BA.1) ในช่วงเดือน ธ.ค. 2564-ม.ค. 2565 พบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 4,500 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร
“โควิด JN.1 สามารถที่จะเพิ่มจำนวนได้ดี แล้วแซงเชื้อตัวอื่นมาเรื่อยๆ”
ข้อมูลการระบาดใหญ่ ล่าสุดระลอก 2 มาจากการตรวจหาไวรัสโควิด-19 จากแหล่งน้ำเสียทั่วสหรัฐอเมริกามากกว่า 700 ชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้คนกว่า 100 ล้านคน พบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 1,400 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ซึ่งถือว่าเกินระดับสูงมาก (very high) ประเมินได้ว่าประมาณ 1 ใน 23 คนในสหรัฐอเมริกาติดเชื้อโควิด-19 และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน
อาการโควิด JN.1
ผู้ที่ติดเชื้อโควิด JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอ เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่า ผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้
แต่จากการพบเชื้อในน้ำเสีย ศูนย์จีโนม ระบุว่า ก็อาจเป็นไปได้ว่า จากเดิมที่เชื้อจะอยู่ที่ปอด ตอนนี้มันสามารถลงมาสู่ระบบทางเดินอาหารได้แล้ว และอาจทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น
ด้าน “หมอยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า สายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนมกราคมนี้ สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น
ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่มีผลอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทย ที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา